กรุงเทพฯ 10 พฤษภาคม 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมหารือกับ ผู้บริหารของหน่วยบริหารจัดการทุน (PMU) เพื่อทบทวน 15 แผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบาย (Flagship) ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และมีศักยภาพเพียงพอในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งใช้แนวทางตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566 – 2570 เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และมีศักยภาพเพียงพอในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมรองรับความท้าทายใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนมุ่งเน้นให้คนไทยมีสมรรถนะ - ทักษะสูง เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ มี 4 ยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญคือ 1. การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 2. การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้ าล้ำยุค และ 4. การพัฒนากำลังคน และสถาบันด้าน ววน. รวมถึงแผนงานสำคัญตามจุดมุ่งเน้นของนโยบาย (Flagship)
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แผนด้าน ววน. เป็นไปตามจุดมุ่งเน้นดังกล่าว สกสว. จึงจัดประชุม เพื่อทบทวนแผนงานสำคัญ และเตรียมความพร้อมในขับเคลื่อนการพัฒนาที่ตอบโจทย์ประเทศ ซึ่งทาง ววน. ได้ร่วมกับ PMU ต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รวมถึง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) และ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (NVI)
เพื่อร่วมกันทบทวนแผนงาน ทั้ง 15 แผนงาน ได้แก่ 1. การพัฒนา และผลิตวัคซีนสำหรับโรคสำคัญ 2. ผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMPs) รวมถึงชีววัตถุและวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ 3. ยกระดับการผลิตและการส่งออก Functional Ingredients Functional Food Novel Food 4. พัฒนากระบวนการผลิต และการตลาดของอาหาร และผลไม้ไทยคุณค่าสูง 5. พัฒนา และยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิด เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 6. เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง 7. พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) 8. พัฒนาผู้สูงอายุในภาคชนบทและเมือง 9. ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ 10. เพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ 11. พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าล้ำยุคสู่อนาคต 12. พัฒนาบุคลากร ววน. ให้มีคุณธรรม จริยธรรมที่มีทักษะสูง 13. ผลิตและพัฒนาบุคลากร ววน. กำลังคนทักษะสูง (Hub of Talents) 14. พัฒนาการเป็นศูนย์กลาง และศูนย์กลางการเรียนรู้ (Hub of Knowledge) และ 15. ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
“การประชุมนี้เป็นการทบทวนแผนงานสำคัญของแผนด้าน ววน. ในครึ่งปีแรก มีเป้าหมายเพื่อร่วมกันวางแนวทางการนำผลงานวิจัย นวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์และสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อประเทศได้อย่างแท้จริง และสอดรับกับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมถึงเพื่อให้การดำเนินในครึ่งปีหลังของการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริม – พัฒนาเทคโนโลยี ใหม่ ๆ เกิดการนำวิจัยไปใช้ในหลากหลายภาคส่วน รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนางานวิจัย งานด้านวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมที่เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้ง 15 แผนงานสำคัญข้างต้นนั้น สกสว. จะนำข้อเสนอแนะต่อการดำเนินงานเสนอแก่ คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เพื่อพิจารณาและเห็นชอบ ก่อนดำเนินงานในส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”