มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดเสวนาวิชาการ “พลิกโฉมการศึกษาไทย เทคโนโลยี โอกาส และอนาคตแห่งการเรียนรู้”

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดเสวนาวิชาการ “พลิกโฉมการศึกษาไทย เทคโนโลยี โอกาส และอนาคตแห่งการเรียนรู้”

   เมื่อ : 26 พ.ย. 2567

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดเสวนาวิชาการ “พลิกโฉมการศึกษาไทย เทคโนโลยี โอกาส และอนาคตแห่งการเรียนรู้” โดยมี นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายพงค์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เจ้าของเว็บไซต์ beartai และทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ ศิษย์เก่า มสธ. และนักศึกษาปริญญาเอกสาขานิเทศศาสตร์ เป็นผู้ร่วมเสวนา ณ อาคารพิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จังหวัดนนทบุรี

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยไทยจะต้องปรับตัวเพื่อสร้างบุคลากรสอดคล้องตามความต้องการของประเทศและโลก” ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่รวดเร็ว ซึ่งส่งผลต่อความต้องการบุคลากรในตลาดแรงงานอย่างมหาศาล เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศและแนวโน้มโลก

ในอดีต มหาวิทยาลัยไทยต้องเผชิญกับปัญหาการผลิตบัณฑิตที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ส่งผลให้ผู้สำเร็จการศึกษาหลายคนต้องทำงานนอกสายงานหรือในตำแหน่งที่ต่ำกว่าคุณวุฒิการศึกษา ซึ่งกลายเป็นความสูญเปล่าของทรัพยากรการศึกษาและลดโอกาสการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาพรวม กระทรวงวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ช่วยสร้างความชัดเจน โดยเน้นการผลิตบัณฑิตและบุคลากรที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศได้อย่างแท้จริง

อว. ได้กำหนดแผนพัฒนาการอุดมศึกษาที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยให้ความสำคัญกับการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ (Super Aging Society) และส่งเสริมการเรียนรู้แบบ non-degree เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคคลในยุคที่ความรู้และทักษะต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยไทยในยุคใหม่ เพื่อให้การศึกษาไทยตอบโจทย์อย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยต่างๆ ถูกปรับบทบาทให้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่

1.มหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ในระดับสากล

2.มหาวิทยาลัยด้านนวัตกรรม เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ เน้นสนับสนุนเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม

3.มหาวิทยาลัยพื้นที่เฉพาะ ให้บริการวิชาการและพัฒนาท้องถิ่นโดยตรง

4.มหาวิทยาลัยศาสนา มุ่งพัฒนาหลักสูตรด้านศาสนาและสังคม

5.มหาวิทยาลัยวิชาชีพเฉพาะ เน้นการผลิตบุคลากรเฉพาะทางที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน

มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อความต้องการของประเทศและโลก โดยเฉพาะการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความสมดุลระหว่างความเชี่ยวชาญเชิงวิชาการและทักษะปฏิบัติที่ใช้ได้จริง ”การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงช่วยให้การศึกษาตอบโจทย์ แต่ยังช่วยพัฒนาประเทศให้พร้อมรับมือกับโลกอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”  

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมพัทธ์ สมิตานนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เดินหน้าปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและความท้าทายจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมุ่งเน้นพัฒนาระบบการศึกษาให้เหมาะสมกับยุคดิจิทัล พร้อมทั้งขยายโอกาสการเรียนรู้สำหรับทุกคน  มสธ. ได้ปรับระบบการเรียนการสอนจากรูปแบบเดิมที่ใช้เอกสาร วิดีโอ และรายการโทรทัศน์ ไปสู่การเรียนการสอนสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบ และแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Moodle และระบบ e-Learning เพื่อตอบสนองความต้องการต่อการศึกษายุคใหม่ นอกจากนี้ มสธ. ยังนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Generative AI มาใช้ในการสร้างเนื้อหาการเรียนการสอน ช่วยเพิ่มความหลากหลายและขยายโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน มสธ. ในช่วงโควิด-19 มสธ. เริ่มนำระบบการจัดสอบออนไลน์มาใช้ โดยผสานเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น Face Recognition เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของผู้เข้าสอบ เพิ่มความโปร่งใสและเชื่อถือได้ในกระบวนการสอบ แม้ว่าจะมีปัญหาในช่วงแรก เช่น การเข้าใช้งานระบบ แต่ด้วยความร่วมมือของทีมงานและบุคลากร ปัจจุบันระบบได้รับการพัฒนาจนสามารถรองรับการจัดสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อยุคดิจิทัล

มสธ. ยืนยันความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์การศึกษาที่เท่าเทียมและตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในยุคดิจิทัล พร้อมเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในทั่วทุกมุมโลก มุ่งเน้นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับทุกคน โดยไม่จำกัดสถานที่หรือเวลา พร้อมเพิ่มหลักสูตรระยะสั้น เน้นการทักษะ Upskill และ Reskill เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

ด้านนายพงค์สุข หิรัญพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เจ้าของเว็บไซต์ beartai กล่าวว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังสร้างผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ทั้งในด้านการศึกษา การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน แม้ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดความซับซ้อนในหลายกระบวนการ แต่การใช้งานที่ขาดสมดุลอาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบในระยะยาว

AI ในการศึกษาเป็นโอกาสและความท้าทาย อย่างเช่น ChatGPT กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักเรียนสร้างงานได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อกังวลว่าการพึ่งพา AI มากเกินไป อาจทำให้นักศึกษาเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ซึ่งเป็นหัวใจของการเรียนรู้ หรือแม้ AI จะช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มความแม่นยำ แต่การเรียนรู้พื้นฐานยังคงเป็นสิ่งสำคัญ สถาบันการศึกษาควรพัฒนากลยุทธ์การใช้ AI อย่างสมดุล เพื่อให้นักเรียนสามารถใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาทักษะที่จำเป็น และ AI กำลังเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานของผู้คนอย่างมาก เช่นเดียวกับผลกระทบของอินเทอร์เน็ตในอดีตที่ทำให้ธุรกิจสื่อต้องปรับตัว (Digital Disruption) ในปัจจุบัน AI ช่วยให้ทุกคนสร้างคอนเทนต์ แต่งภาพ หรือออกแบบผลงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดเพิ่มสูงขึ้น

เทคโนโลยี AI ต้องการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำหรับการเรียนรู้ แต่การใช้งานข้อมูลเหล่านี้ก่อให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะข้อมูลอ่อนไหว เช่น เกรดนักศึกษา หรือข้อมูลส่วนตัว โดยประเทศไทยควรมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) ภายในประเทศ เพื่อควบคุมการจัดเก็บและการใช้ข้อมูลให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนา AI ให้เหมาะสมกับภาษาและวัฒนธรรมไทย ก้าวต่อไปของประเทศไทย ควรพัฒนา AI ในแบบของเรา AI ในอนาคตควรถูกปรับแต่งให้ตอบโจทย์บริบทเฉพาะของประเทศ เช่น การประเมินผลการศึกษา การพัฒนาเทคโนโลยีในภาษาท้องถิ่น หรือการสนับสนุนธุรกิจที่ต้องการความแม่นยำและรวดเร็ว

AI เป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ในหลายด้าน ตั้งแต่การศึกษา การทำงาน ไปจนถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบและคำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและความเสี่ยง เช่น การพึ่งพามากเกินไป หรือการละเมิดความปลอดภัยของข้อมูล จะช่วยให้เทคโนโลยีนี้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนที่สร้างสรรค์และยั่งยืนสำหรับอนาคตของประเทศไทย

ขณะที่ ทนายไพศาล เรืองฤทธิ์ ศิษย์เก่า มสธ. และนักศึกษาปริญญาเอกสาขานิเทศศาสตร์ กล่าวว่า มสธ. ถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกในประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านการเรียนการสอนทางไกลและมีพัฒนาการที่โดดเด่น ทั้งการเปลี่ยนรูปแบบตำราเรียนเป็นดิจิทัล การสอบออนไลน์ และการเรียนรู้แบบ Smart Learning ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เรียนจากทุกพื้นที่เข้าถึงการศึกษาได้ง่ายขึ้น

แม้ AI จะเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง แต่ยังขาดจริยธรรม จรรยาบรรณ และจิตวิญญาณที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมนุษย์ ”AI เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความสะดวก แต่สิ่งที่ AI ทำไม่ได้คือการสร้างศีลธรรมและความเมตตา ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องฝึกฝนและพัฒนาเอง” AI สามารถช่วยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมาก แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ โดยเฉพาะการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับผู้เรียนในยุคดิจิทัล

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในฐานะสถาบันการศึกษาจะต้องมุ่งพัฒนาทั้งความรู้และจริยธรรมของนักศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพและสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ”AI เป็นเพียงผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้กำหนดอนาคต มนุษย์ต่างหากที่เป็นหัวใจสำคัญ”