บพท.เดินหน้าโคลนนิ่ง 200 นักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ สานพลังความรู้-บูรณาการพลังภาคีพัฒนาคน-พัฒนาพื้นที่

บพท.เดินหน้าโคลนนิ่ง 200 นักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ สานพลังความรู้-บูรณาการพลังภาคีพัฒนาคน-พัฒนาพื้นที่

   เมื่อ : 3 ธ.ค. 2567

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ต่อยอดหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ปี 2 ตั้งเป้าปั้น 200 นักจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ สร้างความอยู่ดี-กินดี-มีสุขแก่ประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบาย และยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)ปี พ.ศ.2566-2570

ดร.กิตติ  สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่าหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เป็นการต่อยอด ขยายผลข้อค้นพบจากปีที่ 1 และยกระดับคุณภาพหลักสูตรให้เข้มข้นขึ้น และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่มีบทบาทความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนแผนบูรณาการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพดียิ่งขึ้น

​“เป้าหมายสำคัญของหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ในขวบปีที่ 2 นี้ เรามุ่งพัฒนานักจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ ให้มีความรู้และทักษะร่วม ตลอดจนความรู้และทักษะเฉพาะกลุ่ม ตลอดจนมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนางานวิจัยของประเทศ ตามกรอบนโยบาย และยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.)ปี พ.ศ.2566-2570 ”

ผู้อำนวยการ บพท.ชี้แจงต่อไปว่า สำหรับกลุ่มเป้าหมายในหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ครั้งนี้ มีด้วยกัน 3 กลุ่ม จำนวนรวมกันกว่า 200 คน ประกอบด้วยกลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่จะไปทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนระบบบริหารจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ (Policy Driven Group) กลุ่มนักวิจัยที่จะทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ (Area Driven Group)  และกลุ่มผู้สนใจทั่วไป ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวิจัยและพัฒนาเชิงพื้นที่ (Open Access Group)  โดยกำหนดพื้นที่ดำเนินการเอาไว้ 3 ลักษณะได้แก่พื้นที่วิจัยในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพท. พื้นที่เป้าหมายของผู้เข้าร่วมโครงการที่จะพัฒนาไปเป็น Initiative Program  และพื้นที่ซึ่งได้รับทุนวิจัย จากแหล่งทุนวิจัยหรือหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

“เรามั่นใจว่าผู้ผ่านหลักสูตรหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน แลภคประชาสังคม จะเป็นขุมพลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ และเป็นกลไกสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในพื้นที่ ด้วยทักษะการบริหารจัดการความรู้จากงานวิจัยให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน”