ครม. มีมติให้ “กรมวิทย์ฯ บริการ” เป็นส่วนราชการต่อไปในกระทรวง อว. เร่งขับเคลื่อน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพระดับชาติ และนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน

ครม. มีมติให้ “กรมวิทย์ฯ บริการ” เป็นส่วนราชการต่อไปในกระทรวง อว. เร่งขับเคลื่อน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพระดับชาติ และนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน
วันที่ 11 ธันวาคม 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามนโยบายท่านรัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ที่ให้กรมวิทย์ฯ บริการ เป็นหน่วยงานหลัก รับผิดชอบและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure (NQI)) ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจและมูลค่าการส่งออกของประเทศ และให้กรมวิทย์ฯ บริการ ทำหน้าที่สำคัญในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การดูแลประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชน รวมถึงการเป็นหน่วยรับรองคุณภาพมาตรฐานของห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ


นพ.รุ่งเรือง อธิบดีกรมวิทย์ฯ บริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า เช้าวันนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิก มาตรา 38 ที่กำหนดให้เปลี่ยนสถานภาพกรมวิทย์ฯ บริการ จากส่วนราชการไปเป็นองค์การมหาชน ซึ่งการยกเลิกมาตราดังกล่าว จะทำให้กรมวิทย์ฯ บริการ ยังคงสภาพความเป็นส่วนราชการในกระทรวง อว. ต่อไป เนื่องจากประเทศยังจำเป็นต้องมีส่วนราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแล และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ เป็นหน่วยให้การรับรองกำกับติดตามห้องปฏิบัติการทั่วประเทศ และทำหน้าที่วิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน กรมวิทย์ฯ บริการมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจตามนโยบายรัฐบาลและท่านรัฐมนตรีศุภมาส ในการทำงานเน้นตอบโจทย์ ตรงความต้องการประเทศชาติและประชาชน เพื่อความมั่นคงของชีวิต เศรษฐกิจ และการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่เป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศ


นพ.รุ่งเรือง อธิบดีกรมวิทย์ฯ บริการ กล่าวว่า ในนามบุคลากรกรมวิทย์ฯ บริการ ทุกคน ขอกราบขอบคุณคณะรัฐมนตรี และท่านรัฐมนตรีศุภมาส ที่ให้การสนับสนุนและเห็นถึงความสำคัญของภารกิจด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการดูแลประชาชน ของกรมวิทย์ฯ บริการ และเข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องมีส่วนราชการทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล และกระทรวง อว. ที่สามารถดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หน่วยงานภาคประชาสังคม หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมวิทย์ฯ บริการ ได้พัฒนาปฏิรูประบบราชการ เช่น การปรับโครงสร้างภายในให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับภารกิจ จัดระเบียบองค์กรใหม่เป็น 10 สถาบัน เช่น สถาบันห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติ สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน สถาบันเทคโนโลยีดิจิทัลวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันพัฒนานักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น และสำนักวิทยาศาสตร์บริการเขต 12 เขต ครอบคลุมการดูแลในพื้นที่ทั่วประเทศ ยกระดับสู่ห้องปฏิบัติการอ้างอิงแห่งชาติด้วยระบบ AI ขยายเครือข่ายห้องปฏิบัติการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ กรมวิทย์ฯ บริการ มีความมุ่งมั่นในการนำวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมไทยในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่จำกัดเพียงแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการวางรากฐานองค์ความรู้ การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรในท้องถิ่น และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ชุมชนระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ โดยตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา กรมวิทย์ฯ บริการ มีผลงานที่โดดเด่นอย่างมากทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สามารถขับเคลื่อนผลงานด้านห้องปฏิบัติการจนได้อันดับที่ 5 ของโลกได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับเหรียญทองในระดับนานาชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น การนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนเป็นอย่างดีด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และอาศัยกลไกสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลที่มีปัญหาน้ำดื่ม น้ำใช้ไม่ได้คุณภาพและไม่ปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนและเด็ก ๆ ให้มีน้ำดื่มที่สะอาดมีคุณภาพและปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่ม และได้ตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปี ทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะมีน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดและปลอดภัย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล รวมไปถึงนำวิทยาศาสตร์ไปสู่การแก้ปัญหาในสถานการณ์ฉุกเฉินระดับชาติ เข้าร่วมศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์น้ำท่วม “อว. เพื่อประชาชน” เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและรับมืออุทกภัย เพื่อความปลอดภัยในพื้นที่เสี่ยง ได้ยกระดับการทำงานโดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาภารกิจหน่วยปฏิบัติการ “ผู้พันวิทย์ อว.” ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่ตรวจสอบค้นหาความจริง เก็บตัวอย่าง พิสูจน์หลักฐาน และตอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศให้เกิดการแก้ไขปัญหาของประชาชน ทั้งในด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายระดับชาติ ให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ได้ประสานงานกับห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ทำหน้าที่ “ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วม” ในทุกจังหวัดของประเทศ เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อว. รวมถึงการจัดตั้ง “ศูนย์บริการให้คำปรึกษา อว. อย. และ สมอ.” ทั่วประเทศ ซึ่งเสมือนว่าประชาชนได้มาติดต่อ ที่ อย. และ สมอ. ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับชุมชน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาให้ต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกต่างประเทศจากระดับพื้นที่

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำการนำประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับภูมิภาค ได้จัดตั้ง “สถาบันนวัตกรรมหุ่นยนต์และยานยนต์ไร้คนขับ” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้ลงทุนสร้างสนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV Proving Ground) และเครื่องมือทดสอบที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท เป็นสนามทดสอบระบบอัตโนมัติระดับ SAE AV Level 3-5 รองรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ เสริมความปลอดภัย และการวิจัยพัฒนาทั้งหุ่นยนต์และยานยนต์ไร้คนขับ ขณะนี้กำลังขยายการลงทุนด้านอุปกรณ์การเชื่อมต่อ 5G Private Network เพื่อการทดสอบด้าน Connectivity อย่างเต็มรูปแบบ ที่สามารถจำลองสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมการเชื่อมต่อในทุกรูปแบบ ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการทดสอบยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติจากต่างประเทศก่อนที่จะสามารถนำรถมาทดสอบบนถนนจริงของประเทศไทย รวมไปถึงการศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติขั้นสูงในประเทศไทย และเป็นกลไกสำคัญในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ด้วยระบบยานยนต์อัตโนมัติ
กรมวิทย์ฯ บริการ ก่อตั้งมาเป็นเวลา 133 ปีและมีหน่วยงานต่างๆแตกออกไปเป็นองค์กรต่างๆทั้งรัฐวิสาหกิจ ส่วนราชการ และองค์การมหาชนเป็นจำนวนมากมาย ในฐานะส่วนราชการ กระทรวง อว. ยืนยันความพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายในการยกระดับศักยภาพของประเทศด้วยระบบ NQI สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นส่วนสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน