สุดาวรรณ แสดงความยินดีโบราณวัตถุสำคัญคืนแหล่งกำเนิด ส่งมอบ “พระเจ้าตอง” กลับสู่จังหวัดพะเยา

สุดาวรรณ แสดงความยินดีโบราณวัตถุสำคัญคืนแหล่งกำเนิด ส่งมอบ “พระเจ้าตอง” กลับสู่จังหวัดพะเยา
เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 น. นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีส่งมอบ “พระเจ้าตอง” กลับคืนสู่จังหวัดพะเยา โดยมี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) นายบำรุง สังข์ขาว รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมศิลปากร พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยเข้าร่วม ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การที่ประเทศไทยได้รับ “พระเจ้าตอง” โบราณวัตถุชิ้นสำคัญกลับคืนสู่แหล่งกำเนิดในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ชาวพะเยาให้ความเคารพศรัทธา ยังถือเป็นโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่า และเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีรับมอบแล้วจะอัญเชิญ “พระเจ้าตอง” กลับไปประดิษฐาน ณ วัดศรีปิงเมือง จังหวัดพะเยา ดังเดิม เพื่อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวพะเยาต่อไป
“พระเจ้าตอง” หรือ “หลวงพ่อลอ” เป็นพระพุทธรูปสำคัญของชาวจังหวัดพะเยา เดิมประดิษฐาน ณ วัดศรีปิงเมือง หมู่ 1 บ้านเวียงลอ ตำบลลอ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ตักกว้าง 78เซนติเมตร สูง 110 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านนาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะสุโขทัยเข้ามาผสมผสาน ซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 และนิยมสร้างอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนศิลปโบราณวัตถุ และพระพุทธรูปสำคัญ ซึ่งอยู่ในความครอบครองของวัดวาอาราม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 79 ลงวันที่ 12พฤษภาคม 2529
ปลายปี 2531 “พระเจ้าตอง” ถูกโจรกรรมไปจากวัดศรีปิงเมือง และไม่พบเบาะแสอีกเลย จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม 2567 กรมศิลปากร ได้รับการประสานจากนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ว่ามีผู้ให้ข้อมูลว่าพบพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์ใกล้เคียงกับ “พระเจ้าตอง” พระพุทธรูปจากวัดศรีปิงเมือง จังหวัดพะเยาที่ถูกโจรกรรมไปกว่า 36 ปี ปรากฏอยู่ในสถานประมูลโบราณวัตถุในยุโรป โดยให้รายละเอียดเป็นภาพถ่ายและข้อมูลในเชิงลึก จึงเป็นช่องทางสำคัญในการประสานงานกับผู้ครอบครอง และสามารถนำพระพุทธรูปกลับคืนสู่ประเทศไทยได้ในที่สุด
นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า เมื่อกรมศิลปากรได้รับพระพุทธรูปในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 จึงได้ทำการตรวจพิสูจน์โดยใช้ภาพถ่ายและข้อมูล “พระเจ้าตอง” ที่ฝ่ายทะเบียน กองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 2528 ซึ่งเป็นหลักฐานเดียวในการนำมาพิจารณารูปแบบศิลปะ และรูปพรรณต่าง ๆ พบว่าตรงกัน นอกจากนี้ ยังได้ทำการตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เคยถูกทาทับด้วยสี มีร่องรอยของสีกระจายอยู่ทั่วองค์ ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งตรงกับรูปพรรณของ “พระเจ้าตอง” ก่อนถูกโจรกรรม จึงสามารถยืนยันได้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้คือ พระเจ้าตองของชาวเวียงลอ จังหวัดพะเยา