กรณีข่าว ”ถุงโตเกียว“ อธิบดีกรมวิทย์บริการ “หมอรุ่งเรือง” ชี้ ไวรัสตับอักเสบบี ไม่ติดทางอาหาร แต่ผิดสุขลักษณะ เสี่ยงติดโรคอิ่นๆ อันตรายจากสารพิษ และลวดเย็บกระดาษ ย้ำผิดกฎหมาย PDPA
กรณีข่าว ”ถุงโตเกียว“ อธิบดีกรมวิทย์บริการ “หมอรุ่งเรือง” ชี้ ไวรัสตับอักเสบบี ไม่ติดทางอาหาร แต่ผิดสุขลักษณะ เสี่ยงติดโรคอิ่นๆ อันตรายจากสารพิษ และลวดเย็บกระดาษ ย้ำผิดกฎหมาย PDPA
ตามที่เพจเฟสบุก “หมอแล็บแพนด้า” โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า แฟนเพจแจ้งว่า เจอขนมโตเกียวใส่ถุงพับจากเอกสาร OPD ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ระบุชัดผู้ป่วยเพศชายติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จนสร้างความตื่นตระหนกและมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทั้งในประเด็นเอกสารของโรงพยาบาลที่ไม่ควรหลุดออกสู่สาธารณะเนื่องจากเป็นความลับคนไข้ และประเด็นกระดาษบรรจุอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค นั้น
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า
จากศูนย์ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ในเรื่องวัสดุสัมผัสอาหาร
กรณีกระแสข่าวขนมโตเกียวใส่ถุงพับจากเอกสาร OPD ของโรงพยาบาล ซึ่งสร้างความกังวลทั้งในเรื่องข้อมูล ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี นั้น
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ ให้ความเห็นว่า สำหรับความกังวลเรื่องเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีนั้น ไม่น่าเกิดขึ้นการติดเชื้อได้จากการทานอาหาร เนื่องจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีติดต่อทางเลือดและสารคัดหลังเท่านั้น ไม่ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงลักษณะดังกล่าวมาบรรจุอาหารถือว่าไม่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากกระดาษที่ห่อขนมใช้บรรจุอาหารนั้น หากเป็นเอกสารที่ผ่านการหยิบจับหรือใช้งานอื่น ๆ มาหลายครั้งหลายมือ อาจมีการแพร่กระจายของเชื้อโรคติดอยู่ในกระดาษดังกล่าวได้ ซึ่งที่น่ากังวลคือเชื้อโรคที่ติดต่อทางเดินอาหาร
ที่สำคัญคือ การใช้กระดาษ ประวัติส่วนบุคคลของผู้ป่วย มาทำถุงห่ออาหาร ถือว่าผิด ตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูล ส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่ากฎหมาย PDPA ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 ดังนั้น ข้อมูลส่วนตัวของผู้ป่วย หรือข้อมูลส่วนบุคคลต้องถูกจัดเก็บให้ถูกต้องเป็นระบบและไม่ควรหลุดรอดออกจากโรงพยาบาล จนกว่าจะมีการทำลายด้วยเครื่องมือเฉพาะเมื่อถึงเวลาที่ต้องทำลายเอกสาร
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับอันตรายของหมึกที่อยู่บนกระดาษว่า สารเคมีอันตรายอาจตกค้างเมื่อใช้กระดาษที่มีการพิมพ์หรือถ่ายเอกสารมาบรรจุอาหาร สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มสารอนินทรีย์อันตราย ได้แก่ โลหะหนักเป็นพิษที่ออกฤทธิ์เรื้อรังต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณน้อยๆ แต่เป็นประจำ หรือแบบเฉียบพลันหากได้รับในประมาณสูง หรือก่อเกิดพิษเรื้อรัง เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท โครเมียม และ (2) กลุ่มสารอินทรีย์อันตรายที่มีฤทธิ์ก่อมะเร็ง เช่น บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A) เบนโซฟีโนน (Benzophenone) สารกลุ่มพทาเลต สีเอโซ (Azo dye) โดยเฉพาะเบนโซฟีโนน ซึ่งเป็นสารตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการพอลิเมอร์ไรเซชัน เพื่อทำให้หมึกพิมพ์แข็งตัวเป็นฟิล์มเคลือบบนวัสดุที่พิมพ์ เป็นอันตรายทำให้เกิดการก่อมะเร็ง
ทั้งนี้ กระดาษที่ใช้ห่อหุ้มหรือบรรจุอาหารควรเป็น
กระดาษที่ระบุว่าสัมผัสอาหารได้เท่านั้น ไม่ควรใช้กระดาษรียูสหรือกระดาษรีไซเคิลใดๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องสัมผัสโดยตรงกับอาหาร และถึงไม่สัมผัสโดยตรงก็ไม่ควรนำมาห่อหุ้มอาหารที่มีความร้อน ความชื้น และน้ำมันออกมาด้วย เนื่องจากสารพิษบางตัวสามารถละลายน้ำหรือน้ำมันหรือกลายเป็นไอระเหยปนเปื้อนมากลับอาหารได้ เมื่อเรารับประทานเข้าไปก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
และอีกข้อควรระวังสำหรับผู้บริโภค คือ อันตรายจากการใช้ลวดเย็บกระดาษในบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งถือเป็นการปนเปื้อนทางด้านกายภาพ เมื่อผู้บริโภครับประทานอาหารอาจเคี้ยวหรือกลืนลวดเย็บกระดาษเข้าไปได้ หากลวดเย็บกระดาษเข้าไปติดบริเวณโคนลิ้น ผนังคอ ต่อมทอนซิลหรืออาจลึกลงไปถึงฝาปิดกล่องเสียงอาจจะทำให้เกิดอาการเจ็บคอเวลากลืนน้ำลายหรืออาหาร หากโชคดีก็สามารถคายออกมาเองได้ แต่บางรายอาจอันตรายถึงชีวิต ต้องพบแพทย์เพื่อผ่าตัดโดยเร่งด่วน นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวทิ้งท้าย