เอ็นไอเอเปิด 3 องค์กรยั่งยืนที่เริ่มต้นด้วยการ “เปลี่ยน” พร้อมฉายมุมมอง ทำไมความยั่งยืนจึงเป็นทาง (ต้องเลือก) ของทุกธุรกิจ
เอ็นไอเอเปิด 3 องค์กรยั่งยืนที่เริ่มต้นด้วยการ “เปลี่ยน” พร้อมฉายมุมมอง ทำไมความยั่งยืนจึงเป็นทาง (ต้องเลือก) ของทุกธุรกิจ
โลกของของธุรกิจยุคใหม่ ตัวเลขกำไร หรือการลดต้นทุนอาจจะไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด ซึ่งยุคนี้สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องทำควบคู่กันไปด้วยคือเรื่องของความยั่งยืน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่เริ่มลดลง รวมถึงความไม่เท่าเทียมกันในบางประเด็นของสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจว่าการสร้างความยั่งยืนนั้นแท้จริงคืออะไร สามารถเริ่มต้นหรือทำได้ในลักษณะไหน ดังนั้น เพื่อให้ภาคธุรกิจเห็นภาพและพร้อมใจมาเริ่มสร้างความยั่งยืนกันมากขึ้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ส่งเสริมและกำหนดทิศทางเพื่อพัฒนานวัตกรรมภายใต้ความยั่งยืน จะพาไปพบกับมุมมองและเหตุผลในการพัฒนาความยั่งยืนที่ภาคธุรกิจต้องหันมาให้ความสนใจและทำกันอย่างจริงจังขึ้น พร้อมกับความสำเร็จจากองค์กรที่ยืนด้วย “ความยั่งยืน” แบบที่เป็นรูปธรรม
ความยั่งยืน” ไม่ใช่ทางเลือก แต่ต้องเลือกที่จะทำเพื่ออนาคต
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เผยว่า ในอดีตเรื่องความยั่งยืนอาจเป็นแค่เทรนด์ที่น่าสนใจ แต่ปัจจุบันกลายเป็นภาคบังคับให้ทุกคนต้องก้าวเดินไป และความจริงยังมีหลายมุมมองที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องความยั่งยืน ทั้งในแง่ของการปฏิบัติจริง การลงทุนระยะสั้น ที่มีความซับซ้อนและลงทุนยาก รวมถึงเหมาะกับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม เพราะความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรม หรือจับต้องได้ง่ายในระยะเวลารวดเร็ว ต้องอาศัยการปรับแนวคิดและสร้างความเข้าใจให้คนในองค์กร ก่อนที่จะขับเคลื่อนกำหนดเป็นนโยบายและกลยุทธ์ หรือการที่บริษัทขนาดเล็กมักจะไม่เห็นความสำคัญ เพราะคิดว่ามีต้นทุนค่าดำเนินการที่สูง ซึ่งความเป็นจริงสามารถเริ่มปรับเปลี่ยนได้ง่ายๆ จากแนวคิดของเจ้าของกิจการ หรือพฤติกรรมของพนักงานในองค์กร
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือความยั่งยืนจะไม่ใช่เรื่องใหม่บนโลกนี้ และถือว่าไม่ได้แพร่หลายในระดับที่ทุกคนจะเข้าใจและพร้อมปฏิบัติได้ทุกองค์กร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยสถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) จึงร่วมกับธนาคารออมสินจัดทำและพัฒนา “หลักสูตรการสร้างกรอบแนวคิดธุรกิจใหม่และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development ESG and Business Model Development Programme)” เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นเกี่ยวกับ ESG เน้นการทำธุรกิจใหม่ตามกระแส “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมีประเด็นหลักคือการทำธุรกิจที่หารายได้แต่ยังให้ความใส่ใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำอย่างไรถึงจะได้ไอเดียของธุรกิจที่สนับสนุนสังคมให้ดีขึ้น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และก็ยังสร้างรายได้ในตัว ซึ่งประกอบไปด้วยบทเรียนออนไลน์ 10 วิชา และ 7 กรณีศึกษาจากองค์กรทางสังคมและธุรกิจไทยที่มีการดำเนินงานด้าน ESG อย่างเป็นรูปธรรมและน่าสนใจ รวมถึงตัวอย่างสตาร์ทอัพจากโครงการ GSB Smart Startup Company เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทั้งวิชาการและกรณีศึกษา ทั้งภาคธุรกิจและสตาร์ทอัพ
“ภาคธุรกิจที่มีความพร้อมดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมีกำลังทรัพย์ เราจึงได้เห็นกลุ่มเหล่านี้มีโซลูชันด้านความยั่งยืนที่น่าสนใจ ทำได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหลากหลายองค์กรที่ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ส่งต่อประโยชน์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น เพื่อให้ความยั่งยืนเป็นเรื่องของความเท่าเทียม ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้ และทำได้ในระยะยาว หลักสูตรที่ NIA และธนาคารออมสินพัฒนาขึ้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มจำนวนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมีมากขึ้น ทำให้ผู้ที่เข้ามาศึกษารู้ถึงวิถีของความยั่งยืนแบบลึกซึ้ง การมีวิธีหรือแนวทางที่สามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยเรื่องเงินเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งการนำองค์กรไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมที่ทำให้อยู่ได้ในระยะยาว”
ผศ.ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตเดช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาตรี นวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล (DX) วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เดิมคนส่วนใหญ่มักคิดว่า “ความยั่งยืน” เป็นเรื่องของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบันความยั่งยืนเป็นเรื่องของเจเนอเรชั่นใหม่ หลายองค์กรจึงเริ่มนำกิจกรรมด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ตามแนวคิด Triple Bottom Line คือ การสร้างความสมดุลในการทำธุรกิจทั้ง 3 ด้าน คือ People Profit และ Planet เข้าไปผสมผสานกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ เพราะหากต้องการให้ธุรกิจสามารถต่อยอดและเติบโตได้ยืนยาว ผู้บริโภคก็ต้องอยู่ได้อย่างยาวนานเช่นกัน
“วงจรจะเป็นการผลิตสร้างสภาวะมลพิษ ทำให้สิ่งแวดล้อมไม่ดี คนก็ต้องอยู่ในพื้นที่มลพิษ ส่วนคนสร้างมลพิษก็ป่วยจนไม่มีแรงไปทำงาน วงจรทรัพยากรก็ขาด วงจรของผู้บริโภคก็ขาด เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นที่คนทำธุรกิจสนใจ ต้องเริ่มจากการตั้งคําถามพื้นฐาน ถ้าคุณทำธุรกิจได้เงินมา แต่สิ่งแวดล้อมมีปัญหา ผู้บริโภคติดขัด แล้วต่อไปจะทำมาหากินได้อย่างไร เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่เป็นผู้บริโภครยะยาวจริง ๆ เป็นกลุ่มคนฐานรากมากที่สุด ดังนั้น ถ้าเรามีโอกาสช่วยให้คนฐานรากอยู่ดีมีสุข ธุรกิจของเราก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะกลุ่มคนฐานรากจะเป็นทั้งคนทำงาน และผู้บริโภคให้กับธุรกิจ”
จุดประกายความสำเร็จกับ 3 ธุรกิจที่ยืนบนวิถีความยั่งยืน
ประเทศไทยมีหลายองค์กรที่บรรจุเรื่องความยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ สร้างการสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ รวมถึงนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเกิดความยั่งยืน เช่นเดียวกับ 3 ตัวอย่างองค์กรธุรกิจรักษ์โลกและธุรกิจเพื่อสังคมที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์และแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืนขององค์กร ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ บริษัท ไอ.พี. วัน จํากัด และ Qualy แบรนด์ไทยระดับโลกผู้ออกแบบของใช้พลาสติกรักษ์โลกที่ต่างมีแนวทางน่าสนใจและลงมือทำกันอย่างจริงจัง
ภก.ชาญชัย ธรรมร่มดี กรรมการบริหารมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ เล่าว่า มูลนิธิเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ตั้งต้นที่จะช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย Good Health At Low Cost หรือ สุขภาพดีราคาถูกของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ หลังมีการตัดงบประมาณเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิตยาร่วมทุนที่มีค่าคอร์ทสูง จึงเป็นโอกาสให้มูลนิธิฯ ฟื้นฟูยาสมุนไพรในสวนพฤกษศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กลับมามีบทบาทสำคัญเหมือนเมื่อ 200 ปีก่อน ซึ่งหากนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบันผ่านมา 25 ปีที่สามารถสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านยาสมุนไพรให้ถูกนํากลับมาใช้และมีความสำคัญต่อการดูแลรักษาโรคในการแพทย์แผนปัจจุบันได้สำเร็จ รวมถึงทำให้สินค้ายาสมุนไพรสามารถกระจายออกจากโรงพยาบาลไปสู่สาธารณะ ซึ่งมูลนิธิฯ ถือเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่มีแนวคิดในเรื่องของความยั่งยืนมาอย่างยาวนาน
“กรอบแนวคิด ESG ทำให้มูลนิธิฯ ถูกบอกต่อโดยผู้คนแบบปากต่อปาก ไม่ต้องโฆษณา ถือเป็นความแตกต่าง เป็นจุดแข็งที่ทำให้มูลนิธิฯ เป็นธุรกิจที่มีความยั่งยืนแล้วจริงๆ เพราะเรามีวิสัยทัศน์ที่จะสร้างองค์กรให้อยู่ยืนยาวไปอีก 100 ปี ฉะนั้นพันธกิจที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมาย คือเราไม่ควรถามว่าเราจะได้อะไร แต่ควรถามว่าเราจะให้อะไรกับโลกนี้ เพราะหากดำเนินธุรกิจโดยคิดถึงแค่กำไรและต้นทุน แต่ลูกหลานจะอยู่ไม่ได้ในอนาคต ดังนั้น หากองค์กรพร้อมจะยืนหยัดและมีจุดยืน ท่านจะได้ความชื่นชมจากผู้บริโภค อย่างเช่นช่วงวิกฤติโควิด เจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ได้ช่วยให้สุขภาพของคนไทยรอดพ้นจากวิกฤต ถือเป็นความภาคภูมิใจและแรงขับเคลื่อนให้คนในองค์กรมีความปรารถนาร่วมกัน มีพลังที่จะเดินไปข้างหน้า ถ้าคนในองค์กรมีแพชชั่น องค์กรก็จะถูกขับเคลื่อนไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นวิสัยทัศน์ที่จะยั่งยืนอีกร้อยปี ผมคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ไกลไป”
ขณะที่นางสาวสิรินารถ ธเนศวรกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอ.พี. วัน จํากัด อธิบายว่า บริษัท ไอ.พี. วัน จํากัด เป็นองค์กรผู้ผลิตคิดค้นสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่คู่คนไทยมา 52 ปี ภายใต้ปรัชญาของบริษัทที่ต้องการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้คนไทยใช้ เพราะมองว่าสินค้าที่ดีและมีคุณภาพจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้องค์กรและผู้บริโภคได้ โดยมุ่งพัฒนาทั้งสินค้า คน และกระบวนการทำงาน เริ่มจากการพัฒนาสินค้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยการเปลี่ยนสารในน้ำยาปรับผ้านุ่มให้เป็นแพลนต์ เบส ส่วนตัวบรรจุภัณฑ์ใช้วัสดุที่ผ่านกระบวนการรียูส รีไซเคิล อัพไซเคิล รวมถึงลดปริมาณการใช้น้ำ และสุดท้ายการปลูกฝังและปรับพฤติกรรมของคนในองค์กรให้รู้จักดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มต้นจากการแยกขยะ เพื่อสร้างดีเอ็นเอของคนในองค์กรให้มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพร้อมมุ่งมั่นพัฒนา ต่อยอดสินค้า และกระบวนการทำงานให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องของความยั่งยืนมาตั้งแต่เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ในขณะที่คู่แข่งก็ยังไม่ได้เริ่มต้นทำ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความกล้าและท้าทายขององค์กรที่เริ่มต้นจนทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ปิดท้ายที่ นายธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง QUALY แบรนด์ผู้ออกแบบของใช้พลาสติกรักษ์โลก
ที่เล่าว่า ตอนเริ่มต้นธุรกิจไม่ได้นึกถึงเรื่องความยั่งยืนเป็นหลัก แต่พยายามจะพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ที่คนใช้ในชีวิตประจำวันให้สะดวกสบาย น่าใช้ มากขึ้น ด้วยการสร้างมิติใหม่ๆ เชิงนวัตกรรมและศิลปะ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกดี แต่เมื่อเห็นว่า “พลาสติก” ที่นำมาใช้ผลิตเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จึงทบทวนและปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยนำขยะพลาสติกกลับมาใช้เป็นวัสดุเข้าสู่ระบบการผลิตที่สะอาดเพื่อผลิตเป็นสินค้าทดแทนการใช้ทรัพยากรใหม่ ภายใต้แนวคิด “ดีไซน์เพื่อโลกที่ยั่งยืน (design for sustainable world)” ควบคู่กับการชวนผู้บริโภคให้มารับผิดชอบร่วมกันตามหลักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของใช้ที่ผลิตขึ้นด้วยการไม่ทำให้เป็นสินค้าแฟชั่น ผู้บริโภคก็จะพิจารณามากขึ้น ไม่รีบใช้รีบทิ้ง ตลอดจนมีโปรแกรมด้านการเปลี่ยนชิ้นส่วน การซ่อม การออกแบบให้ใช้งานอยู่ในสภาวะที่ดีได้ยาวนานที่สุด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องความรับผิดชอบต่อขยะที่เราสร้าง ตั้งแต่การผลิตไปจนบริโภค ซึ่งผู้ที่ซื้อจาก QUALY ไปแล้วหากชำรุดสามารถนำมาคืนพร้อมรับส่วนลดในการซื้อสิ่งใหม่ และสุดท้ายคือการรีเทิรน ขยะของใครก็ตามที่เป็นพลาสติก บริษัทจะรับเพื่อนำกลับคิดหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะพยายามดึงทรัพยากรที่หมดอายุแล้วให้กลายเป็นทรัพยากรใหม่ที่มีคุณค่า
“นอกจาก QUALY จะช่วยลดขยะ ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นในระยะยาวแล้ว ยังร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทำงานออกแบบ ความรู้ที่มีเพื่อเป็นไอเดียให้แก่ทุกคน ช่วยพัฒนาชุมชน ช่วยคนหลายหลาก แต่ด้วยเราเป็นองค์กรภาคเอกชนที่ต้องขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงิน ดังนั้น หากเราทำงานอย่างมีระบบ เราจะได้ความน่าเชื่อถือ และสเต็ปสุดท้ายคือได้ลูกค้าที่หลากหลาย ทำให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจได้จริง จะเห็นได้ว่าถ้าคุณเริ่มเร็วคุณจะได้โอกาส และแน่นอนเมื่อคุณได้ชื่อเสียง ไม่ใช่มีแค่พนักงานใหม่ ๆ ที่จะมาทำงานกับเรา ทั้งพาร์ทเนอร์ ลูกค้าที่มีวิสัยทัศน์แบบเดียวกัน ก็จะเข้ามาหา อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าได้แน่จากธุรกิจยั่งยืน”