กระทรวง อว. โดย สอวช. – มจธ. เปิดหลักสูตร STIP รุ่นที่ 7 มุ่งผลิตนักออกแบบนโยบายตอบโจทย์ประเทศ เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง หนุนสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริง

กระทรวง อว. โดย สอวช. – มจธ. เปิดหลักสูตร STIP รุ่นที่ 7 มุ่งผลิตนักออกแบบนโยบายตอบโจทย์ประเทศ เตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง หนุนสร้างเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริง

   เมื่อ : 17 เม.ย. 2568

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีเปิดหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 7 (STI Policy Design: STIP07) ณ ห้องพิมาน 2 ชั้น 12 โรงแรมแกรนด์ เซ็นเตอร์ พอยต์ ลุมพินี กรุงเทพฯ โดยมี ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. และ ผศ.ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ มจธ. เป็นผู้กล่าวเปิดการอบรม

ดร.สุรชัย กล่าวว่า สอวช. และ STIPI มจธ. ร่วมกันจัดการอบรมนี้ จากการเล็งเห็นความสำคัญของการทำนโยบาย และต้องการสร้างคนทำนโยบายให้มีจำนวนมากขึ้น โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดประสบการณ์การทำนโยบาย และแนวทางการผลักดันนโยบายไปสู่การใช้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้กำหนดนโยบาย (policy maker) ซึ่งที่ผ่านมา สอวช. มีบทบาทเป็นเสมือนมันสมอง หรือ think tank ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ การเข้าร่วมในหลักสูตรฯ ยังช่วยสร้างเครือข่ายนักนโยบาย ทั้งจากหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) หน่วยงานให้ทุน หน่วยงานวิจัยภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศร่วมกันได้ในอนาคต

ด้าน ผศ.ดร.สันติ กล่าวว่า อยากเห็นวงการ วทน. มีคนทำนโยบายดี ๆ ออกมามากขึ้น เชื่อว่านโยบายเหล่านี้จะสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและพัฒนาอุตสาหกรรมโดยตรงและทันท่วงที ที่ผ่านมามีผู้ร่วมหลักสูตรแล้วมากกว่า 300 คน กระจายอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ เรามีศิษย์เก่ามากมายที่จะช่วยพัฒนาประเทศร่วมกัน “การพัฒนาประเทศเป็นเรื่องของทุกคน อยากเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในรุ่นเรา” ผศ.ดร.สันติ กล่าว

หลังจากนั้นได้มีการปฐมนิเทศหลักสูตร โดย ดร.สุชาต อุดมโสภกิจ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ได้แนะนำวัตถุประสงค์ของการจัดหลักสูตร เพื่อพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่องการออกแบบนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และนโยบายสาธารณะ ให้สอดคล้องกับบริบทการทำงานของบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกระบบ อววน. ตลอดจนภาคเอกชน เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนานโยบายผ่านการจัดทำข้อเสนอนโยบายจริง เพื่อให้ผู้เข้าอบรมใช้ความรู้ที่ได้รับในทางปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดเครือข่ายนักพัฒนานโยบายด้าน อววน. ของประเทศ เพื่อร่วมการผลักดันนโยบายที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ด้าน ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการ STIPI มจธ. ได้กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบและเรียนรู้ในหลักสูตร โดยจะเริ่มตั้งแต่การมองเห็นปัญหา เข้าใจโอกาส และความท้าทายของประเทศ จากนั้นคือการทำความเข้าใจเครื่องมือ วิเคราะห์และออกแบบนโยบายได้ ก่อนจะเข้าสู่การทำโครงงานกลุ่ม ปฏิบัติจริง ดูงาน และนำไปสู่การสร้างภาคีเครือข่ายในท้ายที่สุด โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมอบรมจากทั้งหมด 36 หน่วยงาน รวม 59 คน

หลังเปิดการอบรม ดร.สุรชัย ยังได้ร่วมบรรยายในประเด็น “มองกว้าง มองไกล: Foresight กับประเด็นท้าทายในการพัฒนาประเทศไทยด้วย อววน.” โดยได้ฉายภาพให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว การวางนโยบายแบบเดิมจึงอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นในในปัจจุบัน ได้แก่ วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate crisis) การเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (AI disruption) โรคระบาด (Pandemic) สังคมสูงวัย (Aging society) สงครามทางการค้า (Trade war) จากการใช้เครื่องวิเคราะห์สัญญาณอนาคตของโลก พบว่ามีสัญญาณที่ไทยน่าจับตามอง อาทิ สงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่แข่งขันกันในเรื่อง AI ชิป IoT ซึ่งไทยเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน วิกฤตระบบดูแลผู้สูงอายุ จากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการที่ AI สร้างและพัฒนาระบบของตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งมนุษย์ เป็นต้น จากการเปลี่ยนแปลงและสัญญาณสำคัญที่เกิดขึ้น ทำให้ไทยต้องมี “เข็มทิศอนาคต” เพื่อชี้ทางว่าประเทศควรลงทุนอะไร สร้างคนแบบไหน และพัฒนาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมไปเพื่ออะไร ซึ่งจุดเริ่มต้นของเข็มทิศนี้คือ การมองอนาคตเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic foresight

ดร.สุรชัย ยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการวิเคราะห์อนาคต (Future analysis) คือการรับรู้แนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้า ช่วยให้สามารถคาดการณ์แนวโน้มสำคัญได้ มีการเตรียมความพร้อมต่อความไม่แน่นอน และมีการตัดสินใจที่มีพื้นฐานจากข้อมูลและแนวโน้มที่ได้รับการวิเคราะห์อย่างรอบด้าน นอกจากนี้ยังถือเป็นการพัฒนานวัตกรรม การสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และการส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกและการทูตวิทยาศาสตร์ด้วย

หากวิเคราะห์ถึงสัญญาณอนาคตโลกด้าน อววน. มองได้ทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงสังคม ที่ในอนาคตการศึกษาพื้นฐานอาจกลับสู่หลักเดิม ขณะที่ระดับสูงจะใช้แพลตฟอร์มออนไลน์และ AI มากขึ้น ด้านการเปลี่ยนแปลงของโลก AI และการคำนวณเชิงควอนตัมจะเข้ามากำหนดอนาคตของเศรษฐกิจ โลกอาจเผชิญภาวะชะงักงัน การกีดกันทางการค้า หรือการเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจใหม่ ด้านการเปลี่ยนแปลงขององค์กร มนุษย์และ AI จะมีการทำงานร่วมกัน โครงสร้างองค์กรจะเรียบง่าย ตัดสินใจเร็ว มีทีมที่ยืดหยุ่น ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และด้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ควอนตัมคอมพิวเตอร์และการจัดเก็บข้อมูลในดีเอ็นเอ (DNA storage) จะเข้ามาพลิกโฉมข้อมูล จาก IoT จะพัฒนาเป็น IoE (Internet of Everything) แต่ก็อาจะเสี่ยงต่อการถูกละเมิดข้อมูลจากการถอดรหัสขั้นสูงได้

“ในมุมของคนทำนโยบายต้องมองกว้าง มองไกล บางเรื่องต้องมองลึกลงไป เพื่อทำนโยบายให้ตอบโจทย์ โดยจะต้องเตรียมพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และกลับมาทบทวนนโยบายที่ทำไว้อย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน ที่สำคัญจะต้องทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นความสำคัญกับนโยบายที่จะทำ และต้องเชื่อมโยงกับการจัดสรรงบประมาณในการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริงด้วย” ดร.สุรชัย กล่าวปิดท้าย

ด้าน ดร.สิริพร พิทยโสภณ รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้ร่วมบรรยาย เรื่อง “ประเด็นท้าทายในการพัฒนาประเทศไทยด้วย อววน.” ในมุมของตัวอย่างนโยบาย โดยได้กล่าวถึงกรอบแนวคิดการออกแบบนโยบาย อววน. ที่มุ่งเน้นทั้งด้านเศรษฐกิจนวัตกรรม เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีดุลยภาพ แนวทางการขับเคลื่อนเริ่มตั้งแต่การสร้างผู้เล่นหลัก (Key player) ในระบบ ตัวอย่างการดำเนินการที่ สอวช. ทำอยู่ คือการเร่งเพิ่มจำนวนธุรกิจการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise: IDE) เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ มีแนวคิดการจัดทำ E-Commercial and Innovation Platform (ECIP) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการต่อยอดการพัฒนาสินค้าสู่ตลาดได้จริง มีกลไก University Holding Company ให้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยของรัฐสามารถร่วมลงทุนกับเอกชนได้ และเกิดการนำผลงานวิจัยออกไปจัดตั้งเป็นธุรกิจ ในระดับชุมชน มีการสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชน ผ่านกลไก Social Integrated Enterprise (SIE) เป็นกลไกกลางในการสร้างและยกระดับเครือข่ายธุรกิจชุมชนให้เกิดการจัดการบริหารธุรกิจชุมชนร่วมตลอดห่วงโซ่คุณค่า นอกจากนี้ยังมีกลไกการนำ อววน. เข้าไปเพิ่มศักยภาพจังหวัด การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและพื้นที่ มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารอนาคต (Future food) โดยมีแนวทางขับเคลื่อนยกระดับผู้ประกอบการและดึงดูดการลงทุน สร้างกลุ่มวิจัยและพัฒนา รวมถึงสร้างระบบมาตรฐานเพื่อพัฒนาตลาด

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางการพัฒนาย่านและเมืองวัฒนธรรมด้วยกลไกท้องถิ่นและประชาคมพื้นที่ การทำระบบข้อมูลสารสนเทศด้านวัฒนธรรมและแผนที่วัฒนธรรม สร้างให้เกิดผู้ประกอบการในพื้นที่ต่อยอดจากทุนทางวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ และอีกบทบาทสำคัญของ สอวช. คือการสนับสนุนและร่วมพัฒนากฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อต่อ
การขับเคลื่อนนโยบายและพัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง อาทิ การสนับสนุนให้เกิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เกี่ยวกับการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566
การปรับหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและพัฒนา และเพื่อการให้บริการทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริมและต่อยอดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของสถาบันอุดมศึกษา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ