รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมการสาธิตการทำงานของกระเปาะ โปรยน้ำแข็งแห้งที่จะช่วยลดฝุ่น กระเปาะทำฝนเทียม นวัตกรรมใหม่ฝีมือคนไทย และสาธิตการใช้ UAV ในการดับเพลิง ของ บริษัท ATIL หนึ่งในบริษัทร่วมทุน DTI

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมการสาธิตการทำงานของกระเปาะ โปรยน้ำแข็งแห้งที่จะช่วยลดฝุ่น กระเปาะทำฝนเทียม นวัตกรรมใหม่ฝีมือคนไทย และสาธิตการใช้ UAV ในการดับเพลิง ของ บริษัท ATIL หนึ่งในบริษัทร่วมทุน DTI
วันพุธที่ 23 เมษายน 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เยี่ยมชมการสาธิตการทำงานของกระเปาะโปรยน้ำแข็งแห้งที่จะช่วยลดฝุ่น กระเปาะทำฝนเทียม และสาธิตการใช้ UAV ดับเพลิง ของ บริษัท แอร์โร เทคโนโลยี อินดัสทรี จำกัด (Aero Technology Industry Co.Ltd. หรือ ATIL) หนึ่งในบริษัทร่วมทุนของ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ DTI พร้อมทั้งรับฟังบรรยายสรุปขีดความสามารถของบริษัทฯ ที่สามารถดำเนินกิจการเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในหน่วยงานด้านความมั่นคงของภาครัฐและภาคพลเรือน โดยมี พลเอก บำรุง สายทอง ประธานกรรมการบริษัทฯ คุณพสิษฐ์ จิตจรูญ ประธานบริษัทฯ พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ พร้อมด้วย พลเอก ดร.ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และคณะผู้บริหารของ DTI และ บริษัท ATIL ร่วมให้การต้อนรับ ณ สนามบินแสงตะวัน ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
โดยในวันนี้ บริษัท ATIL ได้ทำการบินสาธิตการทำงานของกระเปาะโปรยน้ำแข็งแห้ง (Dry Ice Dispenser) ที่ช่วยลดฝุ่น ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่คิดค้นโดยฝีมือคนไทย (Air Show) และการสาธิตกระเปาะทำฝนเทียมที่บรรจุสารดูดความชื้น (Static Show) ที่มีประสิทธิภาพสูงเท่ากับสารโซเดียมคลอไรด์ โดยกระเปาะทั้ง 2 สามารถนำไปบรรจุบนอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV แบบ DP18A เพื่อทำการบินในชั้นบรรยากาศที่จะช่วยบรรเทาภาวะมลพิษของผงฝุ่นละอองและทำให้เกิดฝนเทียม ทั้งนี้ UAV แบบ DP18A เป็นอากาศยานไร้คนขับเครื่องแรกที่บริษัทฯ สามารถผลิตได้เองภายในประเทศและด้วยฝีมือคนไทย สามารถบินได้สูง บินได้ไกล บินได้นาน และบรรทุกน้ำหนักได้มาก รวมถึงมีระยะวงเลี้ยวที่แคบกว่าอากาศยานปกติ และมีการควบคุมการบินอัตโนมัติที่มีความแม่นยำสูง จึงสามารถปฏิบัติการในการบินได้ทุกระยะ จึงมีความเหมาะสมในการทำการบินในชั้นบรรยากาศที่สูง โดยจะช่วยเปิดช่องระบายให้ฝุ่นขนาดเล็กลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน ช่วยให้ฝุ่นระบายออก และลดความหนาแน่นลงได้ และจากที่ UAV แบบ DP18A มีเพดานบินที่สูง และไม่จำเป็นต้องมีนักบินขึ้นไปอยู่บนอากาศยาน จึงมีความปลอดภัยต่อการทำการบินในชั้นบรรยากาศที่มีอุณหภูมิผกผันสูงในการลดภาวะมลพิษของฝุ่นผงและทำฝนเทียมอีกด้วย
อีกหนึ่งคุณสมบัติของ UAV แบบ DP18A คือสามารถปฏิบัติภารกิจในการช่วยบรรเทาสาธารณภัยในภาคพลเรือน และยังสามารถติดอาวุธ สำหรับปฏิบัติภารกิจในการโจมตีเป้าหมาย หรือการลาดตระเวน และอื่น ๆ ของหน่วยงานด้านความมั่นคงได้อีกด้วย
นอกจากนั้น ในกรณีที่มีเพลิงไหม้ในพื้นที่ที่หน่วยดับเพลิงไม่สามารถเข้าถึง หรือเข้าถึงได้ยาก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ UAV บรรทุกลูกระเบิดที่บรรจุสารเคมีที่ช่วยในการดับเพลิง UAV จึงเป็นอากาศยานที่ไม่มีขีดจำกัดในการเข้าพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น วันนี้นอกจากจะมีการสาธิตการทำงานของกระเปาะโปรยน้ำแข็งแห้งเพื่อช่วยลดฝุ่นจาก UAV แบบ DP18A แล้ว ยังมีการบินสาธิตการทิ้งลูกระเบิดที่บรรจุสารเคมีที่ช่วยในการดับเพลิงจาก UAV แบบ DP9A ที่บริเวณสนามบินแสงตะวันอีกด้วย
จากการสาธิตอากาศยานไร้คนขับที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทยของบริษัท ATIL ในวันนี้ แสดงให้เห็นว่าบริษัทเอกชนในประเทศไทยที่เกิดจากพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 มีขีดความสามารถที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถใช้งานได้ทั้งภาคพลเรือนและหน่วยงานด้านความมั่นคงของภาครัฐ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมของไทยตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-Curve 11) ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างครบวงจร เปลี่ยนสถานะประเทศไทยจากการเป็นผู้ซื้อให้กลายเป็นผู้ผลิตและผู้ขาย เพื่อเป็นการยกระดับเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้ต่อไป