สอวช. แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนากลไกการนำ อววน. เพิ่มศักยภาพจังหวัด สู่การจัดตั้ง อว.จังหวัด ชี้ ต้องขึงโจทย์การพัฒนาตามบริบทพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมมีระบบนิเวศสนับสนุนจากรัฐ
สอวช. แลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนากลไกการนำ อววน. เพิ่มศักยภาพจังหวัด สู่การจัดตั้ง อว.จังหวัด ชี้ ต้องขึงโจทย์การพัฒนาตามบริบทพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน พร้อมมีระบบนิเวศสนับสนุนจากรัฐ
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) โดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนากลไกการนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพิ่มศักยภาพจังหวัด สู่การจัดตั้ง อว.จังหวัด ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้าสป.อว. (โยธี) โดยมี นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว. เป็นผู้กล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งกล่าวชี้แจงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดทำโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลไกการนำ อววน. เพิ่มศักยภาพจังหวัด สู่การจัดตั้ง อว.จังหวัด
ภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “การพัฒนากลไกการนำ อววน. เพิ่มศักยภาพจังหวัด สู่การจัดตั้ง อว.จังหวัด” มีผู้ร่วมการเสวนา ได้แก่ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผศ.ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา รองอธิการบดีฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินรายการโดย นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ถ้าเราจะทำงานในระดับจังหวัดต้องขึงโจทย์ของจังหวัดให้ชัดตามบริบทพื้นที่ และมีนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลลงไปสนับสนุนด้วย เมื่อได้โจทย์ชัดแล้วจะต้องมองใน 3 ส่วน คือ 1. โครงสร้าง (structure) 2.กระบวนการ (process) และ 3. คน (people) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้กระบวนการทำงานต่าง ๆ เกิดผลลัพธ์ออกมา สำหรับประเทศไทย ถ้าพูดถึงภาพใหญ่ในระดับจังหวัด ประเด็นที่ขับเคลื่อนได้มี 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.เศรษฐกิจ เพราะทุกจังหวัดมีเศรษฐกิจของตัวเองและมีความแตกต่างกันตามแต่ละพื้นที่ เช่น การท่องเที่ยว ต้องดูว่าคนที่มาเที่ยวมีความต้องการอะไร มาทำอะไร และนำมาออกแบบการทำงานในเชิงพื้นที่ตามอัตลักษณ์ของพื้นที่ ต้องหาจุดขายของแต่ละพื้นที่ 2. อาหาร เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่ต่อยอดได้ และสามารถเชื่อมโยงการขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือสร้างให้เกิดผู้ประกอบการท้องถิ่น (local entrepreneur) 3. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) ที่เกิดจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มีในแต่ละพื้นที่ และ 4. คอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ (creative content) ต้องสร้างพื้นที่หรือแพลตฟอร์มสำหรับผู้ที่มีไอเดียในการผลิตคอนเทนต์ ทำคอนเทนต์ที่เป็นสากล และสร้างให้เกิดการเข้าถึงได้ง่าย
“เราต้องยกระดับขยับงานเชิงพื้นที่ขึ้นไป สร้างขั้วความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ทำให้เกิดเป็นเขตเศรษฐกิจ และมีระบบนิเวศต่าง ๆ ที่พร้อมสนับสนุน เมื่อมองภาพรวมทุกจังหวัดของไทย สามารถหยิบเอาตัวอย่างที่ประสบผลสำเร็จมาทำก่อนได้ เช่น ถ้าทำเรื่องการท่องเที่ยว อาจจะเลือก 10 เมือง ขึ้นมาทำโมเดลการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ในการให้ความเห็นหรือทำข้อเสนอการพัฒนาเมืองของตนเอง เมืองไหนที่ได้รับเลือกก็จะได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลและหน่วยงานในพื้นที่ ทั้งด้านการเงิน การนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยขับเคลื่อน ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน ช่วยเพิ่มรายได้ประชากร ขยับเศรษฐกิจจังหวัดและจีดีพีของประเทศ” ดร.กิติพงค์ กล่าว
สำหรับแนวคิดการพัฒนา อว.จังหวัด ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี น่าคิด น่าทำ ขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่จะต้องคำนึงถึง คือ 1. Demand-Oriented ต้องศึกษาความต้องการตามบริบทของจังหวัดให้ดี 2. Supply-Oriented พิจารณาว่าในแต่ละพื้นที่มีอะไรเป็นพื้นฐาน เป็นโครงสร้างเดิม และจะส่งเสริมต่อยอดอย่างไร และ 3. Result-Oriented การมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ ต้องดูว่าอยากทำให้เกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ โดยคนในพื้นที่ต้องเป็นคนคิดและมีส่วนร่วม
ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงแนวทางการสร้างระบบนิเวศสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ ได้แก่ 1. การให้ทุน การจัดสรรงบประมาณให้กับพื้นที่ในปริมาณที่เพียงพอ และการเชื่อมโยงกองทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 2. ปลดล็อกอุปสรรคในการขับเคลื่อนการทำงาน และ 3. มีระบบสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจในการทำงาน ให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นจริง โดย ดร.กิติพงค์ ได้เน้นย้ำว่า ถ้าอยากทำอะไรให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ เราไม่สามารถทำงานในรูปแบบเดิมได้
ด้าน ดร.กิตติ กล่าวว่า การจะดำเนินการให้สำเร็จได้ต้องคำนึงถึงบริบทของพื้นที่เป็นหลัก ต้องเข้าใจบริบทให้มากพอ และเข้าใจภาพรวมของผู้คนในพื้นที่ เนื่องจากแนวคิด area-based คือการกระจายศูนย์กลางความเจริญให้เกิดเศรษฐกิจที่เติบโตและกระจายตัว ต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนตั้งแต่ระดับเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นชุมชน ครัวเรือน วิสาหกิจชุมชน SME รวมถึงอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยในส่วนของ บพท. ที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ผ่านการจัดทำแพลตฟอร์ม “การขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด” มียุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการพัฒนาคนและกลไกจากฐานทุนทางวัฒนธรรม โดยการขับเคลื่อนผ่านกลไกการทำงานของสถาบันอุดมศึกษาและภาคประชาสังคม เกิดเป็นกลไกความร่วมมือในระดับพื้นที่ให้เกิดผลจริงอย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนของ ผศ.ดร.สันติ กล่าวว่า เมื่อมองในเชิงกระบวนการมีคำถามที่การศึกษาครั้งนี้ควรต้องตอบ 3 ประการ ได้แก่ 1. กระทรวง อว. มีภารกิจที่ต้องดำเนินการในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์และแผนระดับต่าง ๆ ของประเทศ ตลอดจนภารกิจตามกฎหมายอะไรบ้าง นอกเหนือไปจากภารกิจที่หน่วยงานของ อว. ได้ดำเนินการอยู่แล้ว 2. ควรดำเนินภารกิจในภูมิภาคด้วยรูปแบบและวิธีการใด ให้มีความเหมาะสม และคุ้มค่าต่อการใช้ทรัพยากร และ 3. โครงสร้าง กรอบอัตรากำลัง และภารกิจในรายละเอียดเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังเห็นว่าหากจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดผลและประโยชน์จริง นอกจากการพิจารณเรื่องโครงสร้างและบุคลากรแล้ว ก็จำเป็นต้องพิจารณาถึงกรอบคิดใหญ่ของกระทรวง อว. ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการทำงานในมิติพื้นที่สูงขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การปรับกระบวนการทำงานภายในกระทรวง อาทิ การจัดสรรทรัพยากร แนวทางการเติบโตของคนในพื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการทำงานของกระทรวงในระยะยาวต่อไป