กองทุน ววน.ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำ นักวิจัยระดมทีมเฝ้าระวังเชียงราย-น่าน

กองทุน ววน.ร่วมติดตามสถานการณ์น้ำ นักวิจัยระดมทีมเฝ้าระวังเชียงราย-น่าน

   เมื่อ : 3 ก.ค. 2568

กองทุน ววน. หนุนทีมวิจัยแผนงานมุ่งเป้า ‘น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง’ ติดตามสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะสองพื้นที่เฝ้าระวัง เชียงรายและน่าน พร้อมรายงานสถานการณ์ต่ออนุกมธ.ภัยพิบัติ รวมถึงพ่อเมืองและทีมงานจังหวัด ขณะที่ สสน.พัฒนาระบบแผนที่ความเสี่ยงคาดการณ์จากฝนสะสม และพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนสะสมรายตำบลเผยแพร่ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

ตามที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ ณ ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการนั้น ผศ. ดร.อังกูร ว่องตระกูล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา หัวหน้าโครงการวิจัยระบบการเตือนภัยและแนวทางการป้องกันน้ำท่วม ในเขตเมือง จังหวัดเชียงราย หนึ่งในทีมวิจัยแผนงานเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ ววน. ในประเด็น “น้ำมั่นคง ไม่ท่วม ไม่แล้ง” ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงรายในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ว่าเกิดจากอิทธิพลของมรสุมจึงทำให้มีฝนฟ้าคะนองและฝนตกสะสมต่อเนื่องกัน มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4405 ครัวเรือน นาข้าว 500 ไร่ รวมถึงสถานที่และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ได้รับความเสียหายหลายจุด 

ทั้งนี้ นักวิจัยได้รายงานสรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงรายต่อคณะอนุกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดินด้านการจัดการภัยพิบัติระดับชาติ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 โดยสิ่งที่อยากเสนอต่อ กมธ.ต่อไปคือ ผลการศึกษา เช่น การเตือนภัยน้ำท่วม โครงการป้องกันน้ำท่วม แผนงานระดับตำบล จังหวัด ซึ่งต้องใช้กลไกในการบริหารราชการแผ่นดินตั้งแต่ระดับนโยบาย กรม ภูมิภาค ระดับจังหวัด อปท.หรือชุมชน โดยอาศัยสถาบันการศึกษาช่วยทำหน้าเป็นพี่เลี้ยงให้กับแต่ละลุ่มน้ำ
ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายภาคประชาชน 7 ชุมชนต้นน้ำกก จัดทำเกณฑ์ระดับน้ำที่ตำแหน่งสำคัญตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอุทกภัย อีกทั้งสนับสนุนข้อมูลรายวันเพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์แม่น้ำกกและแม่น้ำสาขาให้กับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ สทนช. และเผยแพร่ข้อมูลการติดตามสถานการณ์น้ำรายวันในเพจ ระบบการเตือนภัยและแนวทางการป้องกันน้ำท่วม ในเขตเมือง จังหวัดเชียงราย และเว็บไซต์เครือข่ายการเตือนภัยน้ำท่วม ลุ่มน้ำโขงเหนือ ล่าสุดได้ร่วมมือกับส่วนอุกทกวิยาที่ 2 เชียงราย ศูนย์อุทกวิทยาชลประทาน ภาคเหนือตอนบน ติดตามระดับน้ำกกที่สถานีคู่เตือนภัย (สะพานแม่นาวางและสะพานพ่อขุน) เป็นรายชั่วโมงเพื่อประเมินอัตราการเพิ่มของระดับน้ำอย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนชาวเชียงราย
ด้าน ผศ. ดร. นสพ.วินัย แก้วละมุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และอาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร (น่าน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จังหวัดน่านซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของรัฐบาล มีระบบ Sing Command อุทกภัยน่าน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายให้ชลประทานจังหวัดน่าน ซึ่งรับผิดชอบการรายงานสถานการณ์น้ำ ทำงานประสานกับทีมวิจัยเพื่อวางระบบการวิเคราะห์และพยากรณ์สถานการณ์เป็นรายวัน สำหรับวางแผนและตัดสินใจบริการจัดการน้ำ รวมถึงการแจ้งเตือนประชาชน และการรายงานผลให้ทางจังหวัดรับทราบ เพื่อเฝ้าระวังการเกิดอุทกภัย รวมถึงทำงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ซึ่งมีมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำอยู่แล้ว

ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังประสานชลประทานจังหวัดน่านในการรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทำแบบจำลองการพยากรณ์น้ำฝนและน้ำท่วม โดย ผศ. ดร. นสพ.วินัย ได้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ว่าสิ่งที่ดำเนินการได้ในขณะนี้ คือ การนำข้อมูลพยากรณ์ฝนกรมอุตุนิยมวิทยาและข้อมูลดาวเทียมมาพยากรณ์ฝนคาดการณ์ล่วงหน้า 3 วัน โดยจะแปลความจากการทำโมเดลซึ่งเป็นข้อมูลเชิงเทคนิคมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปรับทราบ รวมถึงรวบรวมข้อมูลเพื่อทำแบบจำลองการพยากรณ์น้ำท่วม แต่ยังขาดข้อมูลสำคัญ คือ แบบจำลองระดับสูงเชิงเลข (Digital Elevation Model: DEM) โดยจะประสานขอข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ซึ่งขณะนี้ สสน. ได้พัฒนาระบบแผนที่ความเสี่ยงคาดการณ์จากฝนสะสม 3 วัน และพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษเสี่ยงน้ำท่วมจากฝนสะสม รายตำบล ล่วงหน้า 48 ชั่วโมง และเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ Thaiwater.net และแอปพลิเคชันมือถือ Thaiwater โดยพื้นที่เฝ้าระวังพิเศษในจังหวัดน่านมี 6 จุด ใน 4 อำเภอ คือ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเชียงกลาง อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอปัว 

“แผนงานน้ำมั่นคงฯ ส่งเสริมให้กลไกเครือข่ายวิจัยมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น และชัยภูมิ ทำงานร่วมกันกับทีมของจังหวัดและเทศบาลเมืองในการพัฒนาระบบเตือนภัยระดับพื้นที่ การจัดทำรายละเอียดแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และการจัดทำพิมพ์เขียวของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมือง โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม การใช้เทคโนโลยีการสำรวจ การจำลองน้ำท่วมและการติดตั้งอุปกรณ์ทันสมัย เช่น เซนเซอร์ ไอโอที ระบบอัติโนมัติ ฯลฯ เพื่อช่วยยกระดับการจัดการน้ำท่วมในพื้นที่เมืองให้ทำงานได้รวดเร็ว ถูกต้อง ใช้งานได้ และเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ในเวลาเดียวกัน” รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผู้อำนวยการแผนงานน้ำมั่นคงฯ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ