วว. ได้รับอนุมัติให้เป็นหน่วยงานประเมินอายุการใช้งานที่เหลือของหม้อน้ำ...แห่งแรกของประเทศไทย
วว. ได้รับอนุมัติให้เป็นหน่วยงานประเมินอายุการใช้งานที่เหลือของหม้อน้ำ...แห่งแรกของประเทศไทย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
ได้รับการอนุมัติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นหน่วยงานประเมินอายุการใช้งานที่เหลือ (Remaining Life Assessment) ของหม้อน้ำ โดยถือเป็นหน่วยงานแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับการอนุมัติฯ ระบุเป็นงานบริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ/ภาคอุตสาหกรรมในการวางแผนการตรวจสอบ ซ่อมบำรุง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ “หม้อน้ำ” เป็นตัวต้นกำลังในโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้หม้อไอน้ำประมาณ 5000 ลูก โดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดจากหม้อน้ำคือ การระเบิด ซึ่งได้สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของโรงงาน ตลอดจนผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับหม้อน้ำ จึงเป็นข้อควรระวังที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในการใช้งาน
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ สามารถให้บริการด้านการตรวจสอบหม้อน้ำอย่างครบวงจร มีเครื่องมือและโปรแกรมที่ทันสมัย มีองค์ความรู้และประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ในด้านการตรวจสอบและมากกว่า 20 ปี ในด้านการประเมินอายุการใช้งานที่เหลือ โดยมีการบูรณาการภายในองค์กรทำให้เพิ่มศักยภาพในงานบริการ สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ จากการที่ วว. ได้รับอนุมัติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นหน่วยงานประเมินอายุการใช้งานที่เหลือของหม้อน้ำ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าด้วย ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การให้ความเห็นชอบเป็นหน่วยงานประเมินอายุที่เหลือ (Remaining Life Assessment) ของหม้อน้ำ พ.ศ. 2566 โดยมีระยะเวลาครอบคลุม 5 ปี
การประเมินอายุของหม้อน้ำ จะคำนวณจากโหมดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน เมื่อทราบอายุจะทำให้สามารถวางแผนการตรวจสอบ การซ่อมบำรุง การกำหนดสภาวะการใช้งาน เพื่อให้หม้อน้ำสามารถทำงานได้ตามแผนการผลิตและไม่เกิดการหยุดการทำงานของหม้อน้ำอย่างกะทันหัน ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการผลิตของโรงงาน ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการซ่อมบำรุง มีกำไรเพิ่มขึ้น ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นผลจากการประเมินสามารถนำไปขอขยายระยะเวลาการตรวจสอบภายในเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี หากผลการประเมินอายุการใช้งานที่เหลือมีอายุเกินกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ยื่นขอต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความเห็นชอบในการตรวจสอบภายในหม้อน้ำทุกระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ต่อการตรวจสอบหนึ่งครั้ง โดยหม้อน้ำที่สามารถขอขยายระยะเวลาการตรวจสอบได้ ต้องเป็นหม้อน้ำแบบท่อน้ำที่มีอัตราการผลิตไอน้ำตั้งแต่ 20 ตันต่อชั่วโมงเป็นต้นไป และเป็นหม้อน้ำที่ใช้ความร้อนจากกระบวนการผลิต (Process Boiler หรือ Process Steam Generator) ทุกอัตราการผลิตไอน้ำ
หากไม่มีการประเมินอายุของหม้อน้ำ อาจเกิดการหยุดการทำงานของหม้อน้ำอย่างกะทันหัน โดยจะส่งผลต่อกระบวนการผลิตของโรงงาน โดยเฉพาะหม้อน้ำที่ใช้ความร้อนจากกระบวนการผลิต (Process Boiler หรือ Process Steam Generator) ที่มีการใช้ในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จะมีรอบการซ่อมบำรุงใหญ่ (Turnaround) เกินกว่า 1 ปี ทำให้ไม่สามารถหยุดหม้อน้ำเพื่อรับการตรวจสอบภายในทุกระยะ 1 ปี ได้ จึงมีความจำเป็นต้องทำการประเมินอายุการใช้งานที่เหลือเพื่อขอขยายระยะเวลาตรวจสอบ หากไม่ดำเนินการจะทำให้ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับหม้อน้ำาและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนําความร้อน
“...ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านหม้อน้ำของ วว. สามารถจะตอบโจทย์และช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการที่มาใช้บริการ และให้คำแนะนำจากผลการประเมินอายุการใช้งานที่เหลือของหม้อน้ำได้ วว. พร้อมให้บริการเกี่ยวกับหม้อน้ำ ด้านการออกแบบ ควบคุมการติดตั้งและตรวจสอบก่อนการใช้งาน ตรวจสอบประจำปี ประเมินอายุการใช้งานที่เหลือ วิเคราะห์หาสาเหตุความเสียหาย วิเคราะห์คุณภาพน้ำของหม้อน้ำ ทดสอบคุณสมบัติของวัสดุหม้อน้ำ และงานที่ปรึกษา ทั้งนี้เพื่อเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการไทย...” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป
อนึ่ง วว. โดย ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ ได้เริ่มวางโครงการเพื่อให้การบริการงานด้านประเมินอายุการใช้งานที่เหลือประมาณปี พ.ศ. 2555 หรือประมาณ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งได้ให้บริการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557 และได้ให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้บุคลากรมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน และยังได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ มีเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลและโปรแกรมที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการประเมินอายุที่เหลือของหม้อน้ำ นอกจากนั้นการประเมินอายุที่เหลือในขอบข่ายการสูญเสียเนื้อโลหะ (Metal Loss) ยังได้รับการรับรองคุณภาพหน่วยตรวจตามมาตรฐาน ISO/IEC 17020 จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) อีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการที่ปรึกษา รับบริการเกี่ยวกับหม้อน้ำ จาก ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000 E-mail : tistr@tistr.or.th หรือที่ “วว. JUMP”