สสส. สานพลัง ภาคี เปิดเวทีชวนคนข้ามเพศ-ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมถก สะท้อนปัญหา-โอกาส จากการระบุความเจ็บป่วยในบัญชีโรค หลัง WHO ประกาศใช้บัญชีโรคใหม่ ให้คนข้ามเพศ พ้นสถานะผู้ป่วยทางจิต แต่พบ 91% ยังไม่ทราบ เกิดอคติ-การเหยียดเพศ-เลือกปฏิบัติในสังคม
สสส. สานพลัง ภาคี เปิดเวทีชวนคนข้ามเพศ-ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมถก สะท้อนปัญหา-โอกาส จากการระบุความเจ็บป่วยในบัญชีโรค หลัง WHO ประกาศใช้บัญชีโรคใหม่ ให้คนข้ามเพศ พ้นสถานะผู้ป่วยทางจิต แต่พบ 91% ยังไม่ทราบ เกิดอคติ-การเหยียดเพศ-เลือกปฏิบัติในสังคม
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลัง มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดเวทีเรื่อง “ผลจากการเปลี่ยนแปลงการระบุความเจ็บป่วยใน ICD 11 สู่โอกาสในการเข้าถึงบริการ : จากครอบครัวสู่ระบบบริการสุขภาพเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ” เนื่องในเทศกาลไพรด์ (Pride Month) ในเดือน มิ.ย.
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศถอนภาวะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมในบัญชีจำแนกโรคสากล ฉบับที่ 10(ICD-10) และบรรจุใหม่ใน ICD-11 ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศแทน เพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิของคนข้ามเพศ และคนที่มีความหลากหลายทางเพศกลุ่มอื่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 จากรายงานการเกณฑ์ทหารของคนข้ามเพศต่อการระบุผลการตรวจร่างกายในประเทศไทย ปี 2565 โดยมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ ร่วมกับ สมาคมเพศวิถีศึกษา พบคนข้ามเพศ ไม่มีความรู้เรื่องการประกาศถอดถอนภาวะการณ์มีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม 91% ส่งผลให้คนข้ามเพศคิดว่าตัวเองป่วยโรคผิดปกติทางจิต และไม่เข้ารับบริการสุขภาพเพราะไม่ต้องการตอบปัญหาเกี่ยวกับเพศสภาพส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิต สะท้อนแนวโน้มกลุ่มคนข้ามเพศส่วนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงองค์ความรู้ ประกอบกับสถานบริการที่ให้คำปรึกษามีจำกัด และค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง
“การจัดกิจกรรม ครั้งนี้ ถือเป็นการขยายความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่สอดแทรกเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในสถานศึกษา และบริการสุขภาพในสถานพยาบาลที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนข้ามเพศ สร้างการรับรู้ของคนข้ามเพศและผู้จัดบริการสุขภาพ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบสุขภาพและการให้บริการต่างๆ รวมถึงสร้างมาตรการหรือแนวปฏิบัติในการจัดบริการสุขภาพที่สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงการระบุความเจ็บป่วยในบัญชีจำแนกโรคสากล ICD-11 ต่อไป” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน สนับสนุนโดย สสส. กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ เน้นสร้างการรับรู้ในตัวตนให้กับกลุ่มคนข้ามเพศ และหน่วยงานผู้จัดบริการสุขภาพ รวมถึงเกิดมาตรการหรือแนวปฏิบัติร่วมกันในการจัดบริการสุขภาพที่มีความสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก โดยใช้หลักการไม่ระบุว่า คนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหรือมีภาวะของความผิดปกติทางจิต หรืออาการเจ็บป่วยอีกต่อไป ที่สำคัญ เป็นพื้นที่ให้กลุ่มคนข้ามเพศได้ส่งเสียงสะท้อน จากสถานการณ์การตีตราว่าป่วยโรคจิตผิดปกติ และครอบครัวที่มีสมาชิกคนข้ามเพศได้ร่วมกันสะท้อนปัญหาและความต้องการบริการทางการแพทย์ เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ ตามกระบวนการทำความเข้าใจเรื่อง ICD-11 ช่วยให้คนข้ามเพศเข้าถึงกระบวนการทางการแพทย์เพื่อยืนยันเพศสภาพ และการดูแลสุขภาพองค์รวม รวมถึงลดอคติ การเหยียดเพศ และเกิดการยอมรับของคนในสังคมเพิ่มขึ้น