สกสว. นำหน่วยงาน ววน. ไทยหารือความร่วมมือ “ด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการพัฒนากำลังคน” ร่วมกับหน่วยสนับสนุนทุนวิจัย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ หนุนความก้าวหน้าระบบ ววน. พร้อมสร้างโอกาสความร่วมมือใหม่ไทย – อเมริกา
สกสว. นำหน่วยงาน ววน. ไทยหารือความร่วมมือ “ด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการพัฒนากำลังคน” ร่วมกับหน่วยสนับสนุนทุนวิจัย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ หนุนความก้าวหน้าระบบ ววน. พร้อมสร้างโอกาสความร่วมมือใหม่ไทย – อเมริกา
กรุงเทพฯ 29 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว.พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกสว. ผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุน3 แห่ง ได้แก่ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ผู้แทนจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และคณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญการแพทย์เฉพาะทางจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมหารือความร่วมมือในประเด็นมุ่งเน้นสำคัญ (Flagships) ของประเทศไทยกับหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย และหน่วยงานสำคัญของประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา มุ่งยกระดับความสัมพันธ์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ระหว่างกัน โดยเฉพาะประเด็นด้านการพัฒนากำลังคน การแพทย์และสาธารณสุขให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น สามารถต่อยอดความร่วมมือเดิม และริเริ่มความร่วมมือใหม่ เพื่อพัฒนาระบบ ววน.ของประเทศได้
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. เผยว่า การเดินทางเพื่อหารือความร่วมมือด้านการแพทย์ สาธารณสุข และการพัฒนากำลังคนร่วมกับหน่วยสนับสนุนทุนวิจัย ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการได้แนะนำระบบ ววน. ของประเทศ และยังเป็นเวทีสำคัญที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานสำคัญของสหรัฐอเมริกากว่า 10 หน่วยงาน ทั้งในด้านระบบการทำงานเชิงวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม การผลักดันงานวิจัยไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประเด็นด้านการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เตรียมความพร้อมในการพัฒนางานวิจัยให้มีคุณภาพความทัดเทียมกับนานาชาติ ตลอดจนการวางแนวทางและแผนการพัฒนากำลังคนด้าน ววน. ของประเทศไทยให้มีศักยภาพสูง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคปัจจุบันและเชื่อมโยงกับงานที่ระบบ ววน. ของประเทศไทยดำเนินการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับประเด็นด้านการแพทย์และสาธารณสุข คณะผู้เดินทางได้เข้าพบ 6 หน่วยงานหลักที่มีพันธกิจในเรื่องการแพทย์ สาธารณสุข ได้แก่ หน่วยงานแรก คือ United States Agency for International Development (USAID) ทางคณะได้เข้าพบ ดร. อทูล กวันดี Assistant Administrator for Global Health และคณะของ USAID เพื่อแนะนำระบบ ววน. ของไทย พร้อมชี้ประเด็นความท้าทายทางสาธารณสุขของไทยและภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง PM 2.5 การตายด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน โรควัณโรคและมาเลเรีย โดยทางผู้แทน USAID ได้กล่าวชื่นชมเรื่องระบบบริการสาธารณสุขของไทยที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพร้อมเรียนรู้เพิ่มเติมจากไทย นอกจากนี้ ทาง USAID ยินดีให้ความร่วมมือกับไทยในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นควรผลักดันร่วมกันต่อไป
อีกทั้งยังได้พบกับคณะผู้เชี่ยวชาญระดับ Program Directors ของหน่วยงานภายใต้ National Institute of Health (NIH) ได้แก่ Fogarty International Center (FIC) National Human Genome Research Institute (NHGRI) และ National Institute of Neurological Disease and Stroke (NINDS) ได้หารือถึงโอกาสความร่วมมือการวิจัยและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการแพทย์ เช่น โรคพาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง และรวมถึงความร่วมมือกับโครงการ Accelerating Medicines Partnership Program (AMP) นอกจากนี้ยังได้หารือถึงทุนวิจัยของ NIH และการสร้างศักยภาพและการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงทุนวิจัยดังกล่าวของนักวิจัยไทย รวมถึงเข้าหารือกับ Biomedical Advanced Research and Development Authority (BARDA) และ Advanced Research Projects Agency for Health (ARPA-H) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านการแพทย์ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา (Department of Health and Human Services HHS) เพื่อทำความเข้าใจระบบการวิจัยภายใต้กระทรวงสาธารณสุขอเมริกา การออกนโยบาย มาตรการ การเตรียมความพร้อมในช่วงมีภาวะวิกฤตและฉุกเฉินด้านสาธารณสุข รวมถึงได้เรียนรู้กลไกการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่ภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม ส่วน ARPA-H นั้นเป็นอีกโครงการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาโดยเน้นการวิจัยมุ่งวิจัยมุ่งเป้าที่มีผลกระทบสูง ขับเคลื่อนโดย Program Managers ซึ่งถือว่ามีบทบาทสำคัญในความสำเร็จของโครงการวิจัยของ ARPA-H เพราะเป็นผู้ดูแลทั้งในเรื่องความท้าทายของโจทย์วิจัย และในขณะเดียวกันก็เล็งเห็นในแนวทางแก้ไข ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะถูกนำมาผลักดันเป็นโครงการภายใต้โครงการของ ARPA-H แต่บุคลากรที่จะมีเป็น Program Manager ได้นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขฯ ได้ออกแบบการดึงดูดบุคลากรวิจัยเก่งๆ โดยการกำหนดอัตราเงินเดือนที่สูงและสามารถบริหารงานได้เบ็ดเสร็จในคนๆ เดียว”
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี กล่าวเสริมว่า ในประเด็นด้านการพัฒนากำลังคนและระบบ ววน. คณะผู้บริหาร สกสว.พร้อมด้วยผู้บริหารและหน่วยบริหารและจัดการทุนได้มีโอกาสพบหน่วยงานสำคัญๆ ของสหรัฐฯ ที่มีพันธกิจในการสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างศักยภาพให้กับทรัพยากรบุคคลทางการวิจัย ซึ่งได้มีการเข้าพบทั้ง National Science Foundation (NSF) ซึ่งเป็นแหล่งทุนวิจัยสำคัญ ที่เป็นพันธมิตรหลักของ สกสว. และเครือข่าย โดยได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานในสังกัดของ NSF ได้แก่The Directorate for Technology Innovation and Partnerships (TIP) Innovation-Corps (I-Corps) Accelerating Research Translation (ART) Computer and Information Science Engineering (CISE) และ The Directorate for Geosciences Division of Research Innovation Synergies and Education (RISE) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภารกิจและประเด็นมุ่งเน้นของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงประสบการณ์ของ NSF ในการริเริ่มกิจกรรมและโครงการนำร่องต่างๆ เพื่อสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศวิจัยของประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีโอกาสได้นำหลายโครงการมาประยุกต์ใช้ในประเทศ เช่น การออกแบบโครงการ TBIR และ TTIR เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้ภาคเอกชนไทย การเตรียมความพร้อมโครงการนำร่อง Thai-Corps ที่ บพข. เตรียมขับเคลื่อนในเร็วๆ นี้
นอกจากนี้ คณะผู้เดินทางยังได้มีโอกาสเข้าพบ ดร.ซูดิป พาริค CEO ของ American Association for the Advancement of Science (AAAS) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ส่งเสริมการใช้ ววน. ในภาคนโยบายของประเทศโดยการคัดเลือกและพัฒนาบุคลากร ววน. ที่มีความสามารถโดดเด่น เพื่อส่งเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในหน่วยงานของรัฐ กระทรวงต่างๆ รวมถึงทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติของประเทศสหรัฐฯ โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาและส่งเสริมบุคลากร ววน. และได้เรียนรู้ระบบและกระบวนการของโครงการ AAAS Fellowship และโอกาสในการเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาระบบการพัฒนาบุคลากร ววน. และการใช้ ววน. ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและการบริหารประเทศของไทยต่อไป โดยในปีนี้ ประเทศไทยจะมีความร่วมมือกับ AAAS ภายใต้โครงการนำร่องเพื่อจัดอบรมปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การทูต ซึ่งวางแผนจะจัดขึ้นร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่กรุงเทพมหานคร กลางเดือนสิงหาคมนี้
ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ยังได้รับเชิญจากที่ประชุมประจำปีของเครือข่ายนักวิจัยรุ่นใหม่ของโลก The 2024 Global Young Academy (GYA) Annual General Meeting (AGM) ให้บรรยายในหัวข้อ Bridging the Gap and Paving the Way for Future Leaders ซึ่งในปีนี้เป็นการจัดการประชุมภายใต้หัวข้อ Transformative and Inclusive Science for a Sustainable Future จัดร่วมกันระหว่าง Global Young Academy และ National Academies of Science Engineering and Medicine (NASEM) มีสมาชิกนักวิจัยรุ่นใหม่กว่า 200 คนจาก 100 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ การประชุมนี้มุ่งเน้นการสร้างพื้นที่ให้เครือข่ายนักวิจัยรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงการนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้คัดเลือกเผยแพร่สู่ประชาคมวิจัย โดย ดร.พงศ์พันธ์ได้มีโอกาสนำเสนอเกี่ยวกับกิจกรรมและโครงการสำคัญๆของประเทศที่ สกสว. เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมการเตรียมความพร้อมและการสร้างบุคลากรวิจัยรุ่นใหม่ของประเทศ พร้อมแสดงตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานระดับนโยบายอย่าง สกสว. กับสมาคมนักวิจัยไทยรุ่นใหม่ (Thai Young Scientists Academy TYSA) เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้สมาคม หรือเครือข่ายนักวิจัยรุ่นใหม่ในประเทศอื่นได้เห็นถึงความเป็นไปได้ และโอกาสในการใช้ความรู้ ความสามารถสนับสนุน ววน. ในประเทศของตนต่อไป
นอกเหนือจากประเด็นด้านการพัฒนากำลังคนแล้ว คณะผู้เดินทางได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของ World Bank (WB) และหารือแนวทางในการสนับสนุน SMEs ทั้งด้านการเงิน การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งผลกระทบต่อ SMEs และการวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่าง สกสว. และ WB ภายใต้โครงการ Policy Effectiveness Review of Science Technology and Innovation in Thailand ระยะที่ 2 ด้วย