วว. ผนึกกำลัง สถาบันมาตรวิทยา ยกระดับหน่วยวัดแห่งชาติสาขาเคมี มุ่งส่งเสริม/ยกระดับด้านบริการส่งออกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย วทน.
วว. ผนึกกำลัง สถาบันมาตรวิทยา ยกระดับหน่วยวัดแห่งชาติสาขาเคมี มุ่งส่งเสริม/ยกระดับด้านบริการส่งออกของไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย วทน.
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พลตำรวจโทพรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “เพื่อการพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติ” ในสาขาเคมี การวิเคราะห์สารกันบูด และการทดสอบสารปลอมปนในเครื่องดื่ม เพื่อส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการวัด การยกระดับระบบมาตรวิทยาให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น รวมถึงการถ่ายทอดมาตรฐานสู่ผู้ใช้งานภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างการยอมรับระดับสากลในสาขาเคมี โดยมี ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. และนายอนุสรณ์ ทนหมื่นไวย รองผู้อำนวยการ มว. ร่วมเป็นสักขีพยาน โอกาสนี้ ผู้บริหารและบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมเป็นเกียรติและแสดงความยินดี ในวันที่ 29 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 5 อาคาร ADMIN วว. เทคโนธานี คลอง 5 จ.ปทุมธานี
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มีห้องปฏิบัติการชีวเคมีและจุลชีววิทยา (หป.ชจ.) ภายใต้ ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา (ศทม.) ซึ่งทำหน้าที่ในการให้บริการทดสอบและวิเคราะห์ทางชีวเคมีและจุลชีววิทยา การวิเคราะห์ส่วนประกอบและคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขึ้นทะเบียน อย. สารสำคัญในสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร สารสกัดตามมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร การตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหารบ่งชี้แหล่งผลิตความเป็นของแท้และการปลอมปนในผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และความทนทานต่อเชื้อรา รวมทั้งการให้บริการปรึกษาในเรื่องต่างๆ อาทิ วิธีการวิเคราะห์และการจัดทำระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ วว. พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับ มว. ทั้งด้านการวัด วิเคราะห์ ทดสอบ และสอบเทียบ รวมถึงการพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์ทางมาตรวิทยาให้เกิดมาตรฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้า เพื่อส่งเสริมและยกระดับด้านบริการของไทยในการส่งออก ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการลงทุนในประเทศ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม (วทน.)
ผู้อำนวยการ มว. กล่าวว่า การพัฒนาระบบมาตรวิทยา เป็นการส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการวัด รวมถึงการถ่ายทอดค่ามาตรฐานจากระดับมาตรฐานปฐมภูมิ (Primary standard) ไปยังระดับมาตรฐานทุติยภูมิ (Secondary standard) ซึ่งส่งผลให้ระบบการวัดแห่งชาติสาขาเคมีมีความเข้มแข็ง สามารถถ่ายทอดค่ามาตรฐานไปสู่ผู้ใช้งานภายในประเทศได้เต็มประสิทธิภาพ และสร้างการยอมรับของการวัดสาขาเคมีในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ มว. รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้ความร่วมมือกับ วว. ในครั้งนี้ และมีความยินดียิ่งที่จะสนับสนุนทรัพยากรและความรู้ด้านมาตรวิทยา ซึ่งเป็นพื้นฐานอันสำคัญในการวิจัย การพัฒนาหน่วยวัดแห่งชาติสาขาเคมี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบมาตรวิทยา เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอนาคตต่อไป