ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดงาน Thailand Competitiveness Forum 2024

ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดงาน Thailand Competitiveness Forum 2024

   เมื่อ : 7 มิ.ย. 2567

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดงาน Thailand Competitiveness Forum 2024 ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับ ทิศทางเศรษฐกิจไทย 2025 การยกระดับอุตสาหกรรมไทย เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งกิจกรรมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ สร้างโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษ “วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย” เดินหน้าใช้นโยบายด้าน ววน. หนุนการพัฒนากำลังคน สร้างนวัตกรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงาน Thailand Competitiveness Forum 2024 ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมทั้งปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย” โดยมี นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วม และ รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวต้อนรับ ณ Auditorium ชั้น 7 อาคาร KX Knowledge Xchange กรุงเทพฯ

นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ประจำปี 2566 ในอันดับที่ 30 จากเดิมอยู่ในอันดับที่ 33 ซึ่งในปี 2567 นี้พบว่าข้อจำกัดของภาคธุรกิจไทย อยู่ที่ความสามารถด้านผลิตภาพ ดังนั้นความท้าทายของภาคธุรกิจไทย คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าและผลิตภาพในสินค้าหรือบริการ การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะที่จำเป็นให้สามารถปฏิบัติงานได้เท่าทันเทคโนโลยีและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตภายใต้สภาวะการแข่งขันในปัจจุบัน นับเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ มีฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง ตลอดจนมีรัฐบาลที่ให้การสนับสนุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้น

นางสาวศุภมาส กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมา กระทรวง อว. ได้ประกาศนโยบายที่เน้นการตอบโจทย์ประเทศด้านอุตสาหกรรมในยุทธศาสตร์สำคัญ 2 เรื่องคือ นโยบาย อว. For EV และ นโยบาย อว. For AI ซึ่งทั้ง 2 เรื่องเป็นนโยบายที่มุ่งส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมของภูมิภาค ปิดช่องว่างปัญหาการขาดแคลนบุคลากร และข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะมาถึง โดยนโยบาย “อว. For EV” เป็นนโยบายที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพาประเทศไทยเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งมี 3 เสาหลักคือ 1.) EV HRD คือการสร้างคนเพื่อตอบความต้องการของอุตสาหกรรม EV และการใช้รถ EV ของประเทศไทย 2.) EV Innovation คือการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรม EV โดยกระทรวง อว. ได้เตรียมการจัดสรรทุนในวงงินประมาณ 3000 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี และ 3.) EV Transformation คือการทำให้รถที่ใช้ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวง อว. เปลี่ยนจากรถที่ใช้น้ำมัน (ICE) มาใช้รถไฟฟ้า ด้านนโยบาย “อว. For AI” จะดำเนินงานใน 3 เสาหลัก ได้แก่ 1.) AI for Education เพื่อใช้ AI ในการเรียนการสอนให้คนไทยมีศักยภาพสูงสุด และเร็วที่สุดในเวลาที่สั้นที่สุด 2.) AI workforce development เป็นการพัฒนาบุคลากรไทยที่เป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ 3.) AI innovation เป็นการนำ AI มาใช้งานจริงในทุกภาคส่วน

“ตนเชื่อมั่นว่าการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกด้วยนโยบายและมาตรการที่ อว. ดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่ 1.) สนับสนุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหา สร้างนวัตกรรม และสร้างอุตสาหกรรมใหม่ 2.) กำหนดสัดส่วนการลงทุน ววน. ในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ชัดเจน ทั้งที่เป็นส่วนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (Applied Science) และงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) โดยให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล แต่ไม่ปิดกั้นโอกาสให้นักวิจัยคั่นพบเรื่องใหม่ ๆ 3.) ส่งเสริมสตาร์ทอัพโดยให้มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นแหล่งบ่มเพาะและสนับสนุนกลไก Matching Fund และ 4.) พัฒนากำลังคน พัฒนานักวิจัย ไปพร้อมกับการพัฒนานวัตกรรม นอกจากนั้น อว. ยังตั้งเป้ามูลค่าการลงทุนค้าน R&D ของประเทศให้ไม่ต่ำกว่า 2% ต่อ GDP โดยคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนด้าน ววน. ไม่ต่ำกว่า 5 เท่า และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตลอดจนความสามารถทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ Startup SME และเกษตรกร โดยรัฐตั้งเป้าหมายในการปั้นให้เกิด Unicorn Startup 7 บริษัท บนธุรกิจฐานนวัตกรรมที่เป็น SME ให้มีรายได้รวมทุกบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 หมื่นล้านบาทอีกด้วย” นางสาวศุภมาส กล่าว

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวต้อนรับพร้อมให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่อไป

นอกจากนั้น นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจกับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย” นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ยกระดับอุตสาหกรรมไทยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน” ต่อด้วยเวทีการเสวนา “เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย” โดยมี คุณรวีรัตน์ สัจจวโรดม ประธานบริหาร สายงานการเงินและกลยุทธ์ บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) คุณวริทธิ์ กฤตผล Commercial Director บริษัท Rayong Engineering & Plant Service Co. Ltd. หรือ REPCO Nex Industrial Solutions ในเครือ SCG และคุณวิศรุต เอื้ออานันท์ Chief Digital Mar Tech Officer โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมขัอคิดสำหรับองค์กรที่ต้องการเริ่มต้นสร้างหรือประยุกต์ใช้นวัตกรรมในองค์กร ปิดท้ายด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชรพจน์ ทรัพย์สงวนบุญ ผู้อำนวยการศูนย์กลยุทธ์และความสามารถทางการแข่งขันองค์กร (STECO) บรรยายหัวข้อ “การยกระดับความสามารถทางการแข่งขันสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนด้วย STECO’s Enterprise Mix” ซึ่งเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ