กระทรวง อว.ยกทัพร่วมเสวนาในงาน GLOBAL SUSTAINABLE DEVELOPMENT CONGRESS 2024 ถกผู้แทนจาก 90 ประเทศทั่วโลก พร้อมร่วม 150 สถาบันอุดมศึกษาไทยนำเสนอเป้าหมาย จัดทำแผนปฏิบัติการ การสร้างระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เตรียมพร้อมคนไทยในศตวรรษที่ 21

กระทรวง อว.ยกทัพร่วมเสวนาในงาน GLOBAL SUSTAINABLE DEVELOPMENT CONGRESS 2024 ถกผู้แทนจาก 90 ประเทศทั่วโลก พร้อมร่วม 150 สถาบันอุดมศึกษาไทยนำเสนอเป้าหมาย จัดทำแผนปฏิบัติการ การสร้างระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เตรียมพร้อมคนไทยในศตวรรษที่ 21

   เมื่อ : 10 มิ.ย. 2567

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการพัฒนาอุดมศึกษา วิทยา ศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  เป็นผู้แทนกระทรวง อว.นำทีมเข้าร่วมเสวนา หัวข้อ “Global collaboration for sustainable action: How Thailand’s higher education sector is leading the way” ในงาน Global Sustainable Development Congress 2024 โดยมีผู้แทนจาก 90 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมงานมากกว่า 3000 คน  โดยกระทรวง อว.ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาของไทยจัดเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ขับเคลื่อนโดยสถาบันอุดมศึกษาของไทย 150 แห่ง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC)

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวข้างต้นเป็นประเด็นที่ อว.ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง เพราะการอุดมศึกษาได้รับการยอมว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ทำให้ผู้เรียน ชุมชนและสังคมได้เรียนรู้และเพิ่มเติมทักษะและความรู้ที่เหมาะสม รวมถึงการเสริมสร้างความสามารถในการร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันมากขึ้น โดยการเสวนาได้รับเกียรติจากคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันอุดมศึกษาของไทย อาทิ ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานอนุกรรมการด้านการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Re-inventing University) นายพรชัย มงคลวนิช อธิการบดี ม.สยาม ผู้แทน SUN Thailand รศ.ดร.วินิตา บุญโยดม รองอธิการบดี ม.เชียงใหม่ ผศ.ดร.พลชาติ โชติการ รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ร่วมกับคณาจารย์และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งในและต่างประเทศถึงการกำหนดเป้าหมายการจัดทำแผนปฏิบัติการหรือการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสม เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ รวมไปถึงการเตรียมนิสิตนักศึกษาให้พร้อมรับมือกับความซับซ้อนของปัญหาและความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น และการสร้างความร่วมมือทั้งในระดับชาติ ระดับนานาชาติ และภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยต่อไปได้

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสวนาจะทำให้สถาบันอุดมศึกษาของไทยเห็นถึงแนวทางในการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ อีกทั้งอาจมีส่วนช่วยผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาของไทย ได้เห็นโอกาสและเร่งขยายความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานด้านการวิจัย และภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ในการเสริมสร้างศักยภาพของสถาบันตามความเป็นเลิศและความเชี่ยวชาญของสถาบัน รวมไปถึงการพัฒนากำลังคนทักษะสูง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป”

นายพันธ์ุเพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่าพันธกิจหลักของกระทรวง อว. ไม่ใช่มุ่งเน้นที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในปัจจุบันเท่านั้น แต่กระทรวง อว. มีบทบาทหลักในการวางรากฐานของประเทศสู่อนาคต ดังนั้น นโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของกระทรวง อว. คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย เพื่อเร่งสร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาคนของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะต้องสอดประสานการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนา เพื่อเป็น future changer คือ การเป็นตัวหลักในการ เตรียมพร้อมคนไทยในศตวรรษที่ 21 เป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่าและเป็นเฟืองสำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่ประเทศฐานนวัตกรรม ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจ ไปพร้อม ๆ กับการเติมเต็มศักยภาพ ทั้งของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่สามารถตอบโจทย์ประเทศและประชาชนได้