กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เสริมแกร่งให้กลุ่มผู้ใช้บริการด้วยการจัดหัวบรรยายพิเศษการใช้ AI เขียนบทความวิจัย ภายในงานการประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน (AUM2024) พร้อมรายงานผลการดำเนินงานของสถาบันฯ และได้ร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะและปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งมีการแสดงผลงานวิจัยการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนจากกลุ่มผู้ใช้บริการภายในงาน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เสริมแกร่งให้กลุ่มผู้ใช้บริการด้วยการจัดหัวบรรยายพิเศษการใช้ AI เขียนบทความวิจัย ภายในงานการประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน (AUM2024) พร้อมรายงานผลการดำเนินงานของสถาบันฯ และได้ร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะและปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งมีการแสดงผลงานวิจัยการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนจากกลุ่มผู้ใช้บริการภายในงาน
กรุงเทพมหานคร – สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กระทรวง อว. จัดการประชุม“การประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ครั้งที่ 12 ประจำปี 2567” ในวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมกว่า 200 คน เพื่อสร้างเครือข่ายฐานผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนให้เข้มแข็งในประเทศ
รศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “สถาบันฯ ได้จัดการประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนเป็นประจำทุกปี เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้ของสถาบัน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะและเสนอปัญหาต่างๆ เพื่อพัฒนาการให้บริการแสง ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการวิจัยของประเทศ รวมทั้งนำเสนอผลงานวิจัยจากการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน”
พร้อมกันนี้ มีพิธีมอบรางวัล SLRI Award ประจำปี พ.ศ. 2566 ให้แก่ผู้มีผลงานวิจัยดีเด่น 2 ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.เมตตา เจริญพานิช จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ” และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สันติ โพธิ์ศรี จากมหาวิทยาลัยบูรพา ได้รับรางวัล “ผลงานวิจัยดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ” โดยคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนได้ประเมินให้คะแนนจาก ผลงานทางวิชาการที่ใช้งานระบบลำเลียงแสงของสถาบันฯ และตีพิมพ์ผลงานภายในปี พ.ศ. 2566
ภายในการประชุมมีการให้ข้อมูลการให้บริการเทคนิคแสงซินโครตรอน และการเข้ารับบริการแสงซินโคร
ตรอน และมีการบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญในหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่จะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มผู้ใช้แสงซินโครตรอนในปัจจุบัน คือ การบรรยายในหัวข้อ “การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence-AI) และการเขียนบทความวิจัย” โดย รศ.ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตกุล จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเขียนบทความวิจัยต่อไป
ทั้งนี้ สิ่งต้องห้ามในการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอเขียนบทความงานวิจัยคือ การใช้เอไอสร้างผลการทดลอง เช่น กราฟ ภาพผลการทดลอง เป็นต้น และยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า การร่างต้นฉบับและการอ้างอิงงานวิจัยนั้นควรเป็นหน้าที่ของมนุษย์ โดยการใช้งานเอไอไม่ควรใช้เพียงคำสั่ง แต่ควรเป็นการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเอไอ และการมีเอไอทำให้มนุษย์ต้องคิดเก่งขึ้นและขยันขึ้น เพื่อใช้เอไอนี้ในการสร้างแนวทางเฉพาะของตนเอง นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้เอไอช่วยคิดและช่วยทำงานวิจัยโดยการแลกเปลี่ยนแนวคิดในเรื่องหัวข้อวิจัย การเชื่อมโยงภาพกว้าง และการเปรียบเทียบวิธีการหรืออุปกรณ์การทดลอง รวมทั้งใช้เอไอเป็นสมุดบันทึกการทดลองเพื่อรวบรวมข้อมูลให้เอไอช่วยประเมินภาพรวมงานวิจัยที่ทำลงไปได้ หรือใช้เป็นเครื่องมือในการปรึกษาปัญหา และเอไอควรเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างแนวคิดใหม่ๆ หรือความคิดสนุกๆ ซึ่งนักวิจัยสามารถสามารถใช้เอไอช่วยปรับร่างงานเขียนทางวิชาการให้สนุกขึ้นได้
โอกาสนี้สถาบันฯ ได้เปิดเวทีเสวนากลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนในความร่วมมือของสถาบันฯ ในหัวข้อ “Empowering Research and Innovation for Thai Synchrotron User Community” โดยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งได้แลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการใช้แสงซินโครตรอนเพื่อพัฒนางานวิจัย โดยให้ความเห็นว่าหากประเทศไทยไม่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน จะทำให้งานวิจัยและพัฒนามีความซับซ้อน และต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น นอกจากนี้ วิทยากรได้เชิญชวนผู้ใช้บริการให้เข้ามาใช้แสงซินโครตรอนมากขึ้น ซึ่งสถาบันฯ มีนักวิจัยที่พร้อมให้คำปรึกษา และหา solutions ร่วมกันในการแก้ปัญหาทั้งในภาควิชาการและในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่ภาคอุตสาหกรรมได้