วว. หารือสภาหอการค้าไทยเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม/วิจัย ชูโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
วว. หารือสภาหอการค้าไทยเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม/วิจัย ชูโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยทีมที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบการส่งเสริมธุรกิจทางการแพทย์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม วว. ได้แก่ ดร.กมล ไชยสิทธิ์ และ ดร.วริทธิ์ ศรีสุขทวีรัตน์ ร่วมต้อนรับคณะผู้บริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดย นางสาวปริม จิตจรุงพร กรรมการรองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัย ในโอกาสร่วมประชุมหารือการพัฒนาความร่วมมือระหว่าง วว. กับสภาหอการค้าไทยในอนาคต และศึกษาดูงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นกลไกในการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง ประกอบด้วย การเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐาน Scale up Plant facilities ได้แก่ 1) การให้บริการและการวิจัยและพัฒนาของศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM 1) ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีโพรไบโอติกและจุลินทรีย์ในอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร และ 2) การให้บริการของโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ที่ให้บริการแบบครบวงจร One-Stop-Service ด้วยมาตรฐาน GMP
โอกาสนี้ นางศิรินันท์ ทับทิมเทศ นักบริหารพิเศษและรักษาการผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ ดร.พงศธร ประภักรางกูล นักบริหารพิเศษและรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ ดร.โสภาพรรณ สัญญาณเสนาะ ผู้อำนวยการ สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม นายจิรวัฒน์ วัฒนบุตร ผู้อำนวยการ กองบริการธุรกิจนวัตกรรม รวมทั้งนักวิจัยและบุคลากร วว. ที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับและนำคณะฯ เยี่ยมชมด้วย ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ณ อาคาร 60 ปี วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการ โดยนำ วทน. เข้าไปแก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร (STI for Total Solution) มุ่งบริการด้านการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ ทั้งในระดับ SMEs ผู้ผลิตสินค้า OTOP วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกร ที่มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ต้องการเพิ่มมูลค่า หรือมีความต้องการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีรูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่ การรับฟังแนวความคิดของผู้ประกอบการ (idea) การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและแก้ไขปัญหา (prototype & solution) การบริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การขยายขนาดการผลิตจากห้องทดลองสู่ระดับการผลิตจริง (scale up) การพัฒนาระบบบริหารจัดการการผลิตสินค้า (product & management system) ตลอดจนการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ (commercialization) ทั้งการส่งเสริมด้านการตลาดและเชื่อมโยงด้านการเงิน เป็นต้น
นางสาวปริม จิตจรุงพร กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มุ่งเชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยสนับสนุนภาครัฐผลักดัน FTAAP และเร่งขยาย FTA กับต่างชาติให้มากขึ้น พร้อมเร่งดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศร่วมกับ BOI และ EEC พร้อมผลักดัน Bangkok Goals (เป้าหมายกรุงเทพฯ) ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยจะนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค ภาคเอกชน ระยะ 5 ปี ที่จัดทำร่วมกับกระทรวง อว. เป็นแนวทางขยายผล BCG Model เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ ขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลเป็นรูปธรรรม