สกสว. ร่วมเสนอผลกระทบ AI – ความก้าวหน้าลดก๊าซเรือนกระจกไทย ในเวทีประชุมสภาวิจัยโลก พร้อมเร่งสร้างพันธมิตรใหม่ หนุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมระดับนานาชาติ
สกสว. ร่วมเสนอผลกระทบ AI – ความก้าวหน้าลดก๊าซเรือนกระจกไทย ในเวทีประชุมสภาวิจัยโลก พร้อมเร่งสร้างพันธมิตรใหม่ หนุนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมระดับนานาชาติ
กรุงเทพฯ 19 มิถุนายน 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมหารือประเด็น “การวิจัยอย่างยั่งยืน (Sustainable Research)” กับหน่วยงานให้ทุนจาก 83 หน่วยงาน 64 ประเทศทั่วโลก ที่ได้เข้าร่วมการประชุมสภาวิจัยโลก The 12th Global Research Council (GRC) Annual Meeting ซึ่ง Swiss National Science Foundation (SNSF) สมาพันธรัฐสวิส และ Fonds pour la Science la Technologie et l’Innovation (FONSTI) สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ (Côte d’Ivoire) เป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ เมืองอินเทอลาเคน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำคณะผู้บริหาร สกสว. เข้าร่วมบรรยายพิเศษ พร้อมกับหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมให้งานวิจัยเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่ซับซ้อนของโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. ได้ร่วมบรรยายพิเศษใน side event ซึ่ง King Abdulaziz City for Science and Technology (KACST) ประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นเจ้าภาพ ภายใต้ธีม “Research Development and Innovation for the Era of Artificial Intelligence” โดยได้บรรยายถึงโอกาสและความท้าทายของการใช้ AI ในงานวิจัย ผลกระทบของการใช้ AI ในงานวิจัย ผลกระทบต่อแรงงาน และบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานให้ทุนต่อความก้าวหน้าของ AI ในบริบทของไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ขณะที่ รองศาสตราจารย์ พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ได้ร่วมบรรยายใน side event ที่ UK Research and Innovation (UKRI) สหราชอาณาจักร เป็นเจ้าภาพ ในธีม “Sustainable research infrastructures for a greener future: How can the international scientific community achieve that goal?” โดยได้ยกตัวอย่างความพยายามของประชาคมวิจัยไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน เช่น ไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ และแบตเตอรี่ เป็นต้น อีกทั้ง ยกตัวอย่าง การแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของไทยให้แก่นักวิจัยทั้งในไทยและในอาเซียน อีกด้วย
ทั้งนี้ ในการประชุมสภาวิจัยโลก มีการหารือเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักถึงการเชื่อมโยงและส่งเสริมงานวิจัยทุกประเภท ตั้งแต่งานวิจัยขั้นพื้นฐานไปจนถึงงานวิจัยประยุกต์ที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำความเข้าใจและแก้ปัญหาความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่ซับซ้อนที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ทั้งนี้ หน่วยงานให้ทุนวิจัยมีความรับผิดชอบร่วมกันในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของการวิจัยเพื่อดำเนินการตามวาระปี 2030 ของสหประชาชาติ โดยใช้ประโยชน์จากการวิจัยและทำให้การวิจัยมีความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา สังคม และเศรษฐกิจมากขึ้นซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ การพัฒนาโจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อความต้องการในการแก้ปัญหาสังคมและมีความสอดคล้องกับ SDGs การสนับสนุนงบประมาณวิจัยอย่างต่อเนื่อง การปรับรูปแบบการให้ทุนที่มีความเหมาะสมต่อการวิจัย เน้นการทำงานข้ามศาสตร์สาขาวิชา และการสร้างเส้นทางอาชีพบุคลากรวิจัยให้ชัดเจนขึ้นเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพมาทำงานวิจัยมากขึ้น
นอกจากนั้น สกสว. ได้มีโอกาสหารือแบบทวิภาคีร่วมกับหลายหน่วยงาน ได้แก่ National Sciences and Engineering Research Council of Canada (NSERC) แคนาดา Swiss National Science Foundation (SNSF) สมาพันธรัฐสวิส King Abdulaziz City for Science and Technology (KACST) ซาอุดิอาระเบีย และ The Dutch Research Council (NWO) เนเธอร์แลนด์ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ในการร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเตรียมความพร้อมในการจัดการประชุม The 14th Global Research Council (GRC) Annual Meeting ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2569 ที่ สกสว. จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับ National Sciences and Engineering Research Council of Canada (NSERC) แคนาดา ด้วย