มจธ. จับมือ สยามพิวรรธน์ มุ่ง Upskill วิศวกรมืออาชีพ พัฒนา “หลักสูตรช่างประจำอาคาร” ยุคใหม่ หลักสูตรแรกของไทย รองรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

มจธ. จับมือ สยามพิวรรธน์ มุ่ง Upskill วิศวกรมืออาชีพ พัฒนา “หลักสูตรช่างประจำอาคาร” ยุคใหม่ หลักสูตรแรกของไทย รองรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

   เมื่อ : 26 มิ.ย. 2567

ปัจจุบันธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในระบบอาคาร จนทำให้เกิดภาวะ Talent War มีการแย่งชิงช่างหรือวิศวกรประจำอาคารอย่างรุนแรง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและป้องกันอุบัติเหตุ หรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นทั้งชีวิตและทรัพย์สิน รวมถึงผลกระทบต่อการลด “มูลค่า” และ “ความน่าสนใจ” ของอาคารในสายตานักลงทุนและคนทำธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมมือกับ สยามพิวรรธน์ จำกัดและ สยามพิวรรธน์ อคาเดมี (SIAM PIWAT Academy) ในการพัฒนาหลักสูตร Non-Degree เพื่อยกระดับทักษะอาชีพของช่างและวิศวกรประจำอาคาร ซึ่งถือเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย โดยจะเริ่มเปิดสอนครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2567

“หลักสูตรพื้นฐานการจัดการระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร Utility Management” เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรระยะสั้น (Non Degree) มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากำลังคน สาขา Utility Management ได้รับการออกแบบและพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางและรอบด้านในการดูแลระบบต่างๆในอาคารยุคใหม่ และรองรับความต้องการของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว  

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวถึงความสำคัญของหลักสูตรนี้ว่า การเจริญเติบโตของเมืองและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องการบุคลากรที่มีทักษะในการบริหารจัดการระบบวิศวกรรมประกอบอาคารที่มีความหลากหลายสามารถควบคุมระบบต่างๆ ในอาคาร รู้การบริหารในทุกระบบ รวมถึงการบริหารอุปกรณ์แต่ละชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ช่างหรือวิศวกรประจำอาคารในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา อาทิ เครื่องกล ไฟฟ้า โยธา และที่ผ่านมายังไม่มีหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากรกลุ่มนี้ให้มีทักษะรอบด้าน ในลักษณะ versatile ที่จะสามารถดูแลและบริหารระบบที่ซับซ้อนของอาคารยุคใหม่ๆ อาทิ green building smart building หรือ รองรับเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือระบบ AI และอื่นๆ ได้อย่างครบวงจร

“มจธ. ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม นอกจากผลิตนักศึกษาที่มีคุณภาพสู่สังคมแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีนโยบายขยายพันธกิจด้านการพัฒนาบัณฑิตไปสู่การพัฒนากลุ่มคนวัยทำงาน (Working Adults) ในภาคอุตสาหกรรมภายใต้ชื่อ “KMUTTWORKS” ซึ่งเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ เพื่อการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของคนวัยทำงานอย่างยั่งยืน โดยออกแบบหลักสูตรประกาศนียบัตรภายใต้โจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม (Real Demand) ซึ่งเป็นโปรแกรมการศึกษารูปแบบใหม่ ที่มุ่งเน้นด้านการสร้างกำลังคน พัฒนาศักยภาพ และยกระดับทักษะกำลังคนวัยทำงานเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม สอดรับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษามีบทบาทกว้างมากขึ้นโดยเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคการผลิตของประเทศไทย”

นางจารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล HR - Executive Consulting และที่ปรึกษา โครงการ Siam Piwat Academy บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า “65 ปีที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์ มุ่งพัฒนาและบริหารโครงการที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ไอคอนสยาม และสยามพรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ จนได้รับการยอมรับให้เป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องมาเยือนของนักเดินทางจากทั่วโลก เหล่านี้สะท้อนถึงความเชี่ยวชาญในการบริหารอาคารและประสบการณ์อย่างสูงในด้าน facility management และเพื่อยกระดับสมรรถนะบุคลากรของบริษัทไปอีกขั้น รวมทั้งความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนากำลังคนของประเทศ บริษัทฯ จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ในการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของกลุ่มบุคลากรสายงานช่างประจำอาคาร หรือ วิศวกรประกอบอาคาร เพราะความมั่นคงปลอดภัยของอาคารเป็นรากฐานสำคัญของธุรกิจทุกประเภท

รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. ยังเสริมอีกว่า “อนาคตจะมีโครงการขนาดใหญ่หรือศูนย์การค้าใหญ่อีกมาก และกำลังต้องการคนกลุ่มนี้ วิศวกรที่ทำหน้าที่ดูแลบริหารอาคาร โดยเฉพาะ ecosystem ของอาคารมีความสำคัญไม่น้อยกว่าวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างอาคาร ช่างหรือวิศวกรอาคารที่เอกชนต้องการนั้นจะต้องสามารถคาดการณ์หรือมองเห็นว่ามีปัญหาอะไรผิดสังเกต ในระบบน้ำ ไฟ แอร์ ลิฟท์ บันไดเลื่อน และต้องสามารถวางแผนในการป้องกันได้ก่อนด้วย ไม่ใช่ให้เกิดเหตุแล้วค่อยมาแก้ปัญหา ดังนั้นหลักสูตรนี้จึงมาเติมเต็มช่องว่างในการช่วยยกระดับอาชีพช่างอาคารหรือยกระดับอาชีพช่างนิติบุคคลหมู่บ้าน  โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรที่อยู่ในสายงานช่างอาคาร นักศึกษา รวมถึงผู้จบปวช.-ปวส. ที่มีประสบการณ์ หรือนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์สาขาเฉพาะทาง ที่สนใจประกอบอาชีพหรือต้องการทำงานร่วมกับคนกลุ่มสายอาชีพนี้”

ด้าน ดร.อรกัญญาณี เลี้ยงอิสสระ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มจธ. กล่าวว่า “หลักสูตรนี้เป็นการออกแบบและพัฒนาขึ้นมาจากโจทย์ที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนำความต้องการของประเทศมาสะท้อนให้กับนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษาได้เห็นภาพความต้องการแรงงานจริงในตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ Siam Piwat Academy ได้เห็นแนวทางการพัฒนากำลังคนของ KMUTTWORKS ที่เป็นเครื่องมือในการต่อยอดทักษะสมรรถนะให้แก่กำลังคนอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงจุด และว่องไว ซึ่งปัจจุบันด้วยภาวการณ์แข่งขันที่สูงทำให้ในหลายๆมิติ ภาคธุรกิจและเอกชนไม่สามารถรอถึง 4-5 ปีให้มหาวิทยาลัยผลิตกำลังคนได้ หลักสูตร Non-Degree ที่เราออกแบบมานี้ จึงตอบโจทย์ได้มากกว่า เพราะนอกจากจะเน้นปูพื้นฐานในด้านต่างๆ ที่ช่างหรือวิศวกรอาคารควรรู้ เช่น Anatomy of the Building ยังเน้นเรื่องใหม่ๆ ที่ช่างประจำอาคารในศูนย์การค้าหรืออาคารขนาดใหญ่จำเป็นต้องรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็น Smart Building และ Smart Energy”

จุดเด่นของหลักสูตร คือ เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตร หรือ Non-Degree Program เรียนแบบไม่มุ่งเน้นปริญญา แต่ในอนาคตผู้เรียนก็สามารถสะสมเครดิตเพื่อเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนแบบปริญญาได้เช่นกัน โดยหลักสูตร Utility Management นี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ basic intermediate advanced และ expert ถือเป็นหลักสูตรแรกของไทยที่บูรณาการวิชาชีพวิศวกรรมสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการอาคารเข้าด้วยกันถึง 10 ทักษะ ประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับระบบอาคาร รหัสและระเบียบการก่อสร้าง ความชำนาญด้านเทคโนโลยี ทักษะการบำรุงรักษาและซ่อมแซม การจัดการและอนุรักษ์พลังงาน การจัดการความเสี่ยงฉุกเฉิน ทักษะการบริการลูกค้า การทำงานเป็นทีม การพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการจัดการทางการเงิน และการสร้างระบบ PV แบบบูรณาการซึ่งหลักสูตรระดับ Basic จะเปิดสอนรุ่นที่ 1 ในเดือนกรกฎาคมนี้ และทยอยเปิดระดับอื่นๆและรุ่นถัดๆ ไปให้ครบสี่ระดับภายในปีการศึกษา 2568 ผู้ที่เรียนจบและผ่านกระบวนการวัดผล หากสนใจจะเข้าทำงานในบริษัทในเครือสยามพิวรรธน์ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ การพัฒนาหลักสูตร “หลักสูตรพื้นฐานการจัดการระบบวิศวกรรมประกอบอาคาร เป็นโครงการความร่วมมือพัฒนากำลังคน สาขา Utility Management Officer (O&M) ระหว่างบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัดและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกัน ภายใต้โครงการสยามพิวรรธน์ อคาเดมี (SIAM PIWAT Academy) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 และยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ KMUTTWORKS ของ มจธ. ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของคนวัยทำงานให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไทย

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ