“ศุภมาส” สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ดึง 8 บริษัทชั้นนำด้าน EV ของโลกร่วมหารือ กางแผน อว. ตอบโจทย์พัฒนากำลังคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ย้ำพร้อมหนุนไทยเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” (Detroit of Asia) สู่ EV Hub ของภูมิภาค
“ศุภมาส” สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ดึง 8 บริษัทชั้นนำด้าน EV ของโลกร่วมหารือ กางแผน อว. ตอบโจทย์พัฒนากำลังคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ย้ำพร้อมหนุนไทยเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” (Detroit of Asia) สู่ EV Hub ของภูมิภาค
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.67 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีพิธีลงนาม MOU โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และพิธีลงนาม MOU ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้านการวิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องของศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย (Thailand EV Center of Excellence TECE) ระหว่าง สวทช. กับ China Automotive Engineering Research Institute (CAERI) นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรากฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย
หลังจากพิธีลงนามฯ ดังกล่าว น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการชั้นนำด้าน EV ที่มาลงทุนสร้างโรงงานในประเทศไทยแล้วกว่า 8 บริษัท ได้แก่ GWD Changan Neta BYD Aion Jaecoo MG และ Geely ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนรวมกันไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ น.ส.ศุภมาส เปิดเผยว่า ตนได้ขอความร่วมมือบริษัทชั้นนำด้าน EV ให้ช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้พัฒนาอุตสาหกรรมไปด้วยกัน สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่นำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 2568 ให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 2573 จะขยายให้เป็น 30 เปอร์เซ็นต์
รมว.อว. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการด้าน EV ทั้ง 8 บริษัท ยินดีให้ความร่วมมือและได้ขอบคุณกระทรวง อว. กับกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้สร้างมาตรฐานการทดสอบที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” (Detroit of Asia) ด้าน EV เพิ่มเติมด้วย และได้แสดงเจตจำนงว่า ต้องการที่จะใช้ผู้ประกอบการไทยใน Value chain สำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะขยายการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC เพื่อรองรับการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าไปทั่วโลกอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ขอให้ช่วยสนับสนุนเพิ่มเติมใน 2 เรื่องหลัก คือ การประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรม และด้านมาตรฐานการศึกษาที่ยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
“ดิฉันได้เน้นย้ำและให้ความมั่นใจแก่ผู้ประกอบการว่า การพัฒนาบุคลากรเป็นภารกิจหลักของกระทรวง อว. ที่สำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น อว. ได้ประกาศนโยบาย อว. for EV เป็นโครงการเรือธง (Flagship project) ของกระทรวง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม และได้ตั้งเป้าหมายการพัฒนาบุคลากรด้าน EV ไว้ที่ 150000 คน ภายใน 5 ปี รวมทั้งกระทรวง อว. ยังได้เชิญคุณ Lilly Han Business Director ของ Beifang Automotive International Education Group ซึ่งเป็นบริษัทที่ผลิตและพัฒนาทักษะกำลังคนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม EV ที่ใหญ่ที่สุดของจีน มาร่วมหารือ โดยจะมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันและเตรียมพร้อมที่จะเผยแพร่แพลตฟอร์มการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning platform) ซึ่งจะมี AI teacher หรือครู AI มาช่วยในการเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์และโต้ตอบกับผู้เรียน เพื่อที่จะป้อนกำลังคนเข้าสู่อุตสาหกรรมให้บรรลุผลตามเป้าโดยเร็ว นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังจะมีการลงทุนศูนย์ปฏิบัติการฝึกทักษะ 2 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถเปิดอบรมได้ภายในเดือนกันยายน 2567 และจะผลิตคนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30000 คน ภายใน 1 ปี นับจากเปิดการอบรม” น.ส.ศุภมาส กล่าว