“ศุภมาส” เป็นห่วงประชาชนบริเวณเหตุไฟไหม้โกดังกากเคมี ส่ง “ทีม DSS” วศ.อว. ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำ
“ศุภมาส” เป็นห่วงประชาชนบริเวณเหตุไฟไหม้โกดังกากเคมี ส่ง “ทีม DSS” วศ.อว. ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำ
วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า
สำนักงานจังหวัดระยองได้ประสานขอให้กระทรวง อว. เข้าตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำชุมชน โดยรอบบริเวณเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม วิน โพรเสส อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ดังนั้น
ตนได้สั่งการให้ทีมนักวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว (DSS Team) กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. นำโดยนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดี วศ. พร้อมด้วยทีมนักวิทยาศาสตร์ ลงปฏิบัติการในพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดระยอง และ อบต. บางบุตร ทั้งนี้ตนได้กำชับให้ ทีม DSS วศ.อว. นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญและระดมทรัพยากรเข้าช่วยเหลือเร่งตรวจสอบ และรายงานผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไข และป้องกันปัญหาต่อไป
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ อธิบดี วศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่าน รมว. ศุภมาสฯ มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ได้เน้นย้ำให้ทีมเร่งตรวจสอบด้วยหลักทางวิทยาศาสตร์และผลทางห้องปฏิบัติการ โดยทีม DSS วศ.อว. ได้นำเรือเก็บตัวอย่างอัตโนมัติ ซึ่งเป็นนวัตกรรมของ วศ.อว. สำรวจพื้นที่และเก็บตัวอย่างน้ำในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุม ถูกต้องและรวดเร็ว พร้อมเครื่องมือวิเคราะห์ค่าน้ำภาคสนาม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างตามแหล่งน้ำชุมชน บริเวณใกล้จุดเกิดเหตุ ที่ใช้สำหรับทำประปาชุมชน จำนวน 8 แห่ง ครอบคลุม 6 หมู่บ้าน ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เสี่ยง และคาดว่าแหล่งน้ำเหล่านี้อาจมีโอกาสได้รับการปนเปื้อนสารเคมีจากเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ทีม DSS วศ.อว. ได้เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบเบื้องต้นและส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการอ้างอิงกรมวิทยาศาสตร์บริการ ต่อไป
จากการที่ ทีม DSS วศ.อว. ได้ลงพื้นที่ ได้มีการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ พบว่าประชาชน มีความกังวลใจเป็นอย่างมาก ในเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมี ที่มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำชุมชน เนื่องจากแหล่งน้ำเหล่านี้ ชุมชนใช้ในการทำประปา เพื่อการอุปโภค บริโภค
นายแพทย์รุ่งเรือง อธิบดี วศ. กล่าวเน้นย้ำว่า ทีม DSS วศ.อว. จะเร่งตรวจวิเคราะห์เพื่อรายงานผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นข้อมูลในการป้องกัน และเร่งแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการต่อไป