‘ศุภชัย’ เปิดตัว ”ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐาน แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” หนุนอุตสาหกรรม EV ในประเทศ

‘ศุภชัย’ เปิดตัว ”ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐาน แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” หนุนอุตสาหกรรม EV ในประเทศ

   เมื่อ : 5 ก.ค. 2567

วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 : นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)เป็นประธานในพิธีเปิดตัว “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” ซึ่งจัดโดย สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ภายในงาน International Energy Storage Forum 2024 - TESTA Annual Symposium ครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุม MR 111 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ โดยมีนายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไทย เข้าร่วมการเปิดตัวครั้งนี้ ภาคีเครือข่ายนี้มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ โดยจะดำเนินการผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล

นายศุภชัย ใจสมุทร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล)กล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยท่านนายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ได้มีนโยบายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เเละมีมาตรการส่งเสริม EV มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และ Supply Chain ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศโดยทางรัฐบาลและกระทรวง อว. เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ประกาศนโยบาย ”อว. for EV” โดยมีเเนวทางการดำเนินการใน 3 เสาหลัก คือ

1. EV-HRD พัฒนาบุคลากรด้าน EV

2. EV-Transformation เปลี่ยนผ่านหน่วยงานใน อว. ให้นำร่องใช้รถ EV แทนรถยนต์สันดาปภายใน (ICE)

3. EV-Innovation ผลักดันการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของอุตสาหกรรม
EV ในประเทศ

โดยนายศุภชัยได้แสดงความยินดีกับการเปิดตัว “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้ สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” ที่ได้เริ่มต้นมาจากการดำเนินการโครงการนำร่องร่วมกันของหน่วยงานในกระทรวง อว. คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
พระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนชั้นนำ ได้แก่ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท กริดวิซ(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ยูเนี่ยนนิฟโก้ จำกัด จนนำมาสู่การขยายผลเป็นภาคีเครือข่ายระดับประเทศ และได้แสดงความเชื่อมั่นว่าด้วยจากความร่วมมือดังกล่าวจะผลักดันให้ประเทศ ก้าวไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนคนไทย

ด้าน นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวแสดงความยินดีกับการก่อตั้งภาคีนี้ โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีบทบาทหลักในรัฐบาลเพื่อขับเคลื่อนภารกิจสำคัญด้านอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยกลไกของหน่วยงานในกระทรวงฯ อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และองค์กรอิสระภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น สถาบันยานยนต์ - ซี่งเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งภาคีเครือข่ายนี้ มุ่งขับเคลื่อนภารกิจสำคัญด้านอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยในส่วนของยานยนต์ กระทรวง อก. ได้มีการดำเนินการหลัก 
ได้เเก่

1. การจัดทำมาตรฐาน: มุ่งรองรับการตรวจสอบ รับรอง โดยเฉพาะด้านความปลอดภัย ผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น มาตรฐานระบบขับเคลื่อน มาตรฐานระบบการประจุไฟฟ้า มาตรฐานแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานระบบการสื่อสารระหว่างยานยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า มาตรฐานระบบเบรกของจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรฐานชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

2. การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว: กระทรวงฯ เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารและจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว รวมทั้งจัดทำแผนการบริหารและกำจัดซากแบตเตอรี่รถยนต์อย่างเหมาะสม

3. การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน: สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ศูนย์ทดสอบยานยนต์และ
ยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)

4. การพัฒนาทักษะแรงงานเฉพาะทาง: พัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม 
ผ่านหลักสูตรฝึกอบรม การศึกษา และการพัฒนาทักษะเฉพาะทาง โดยสถาบันยานยนต์ดำเนินโครงการเพิ่มผลิตภาพ 
เน้นการพัฒนาระบบรับรองความสามารถบุคลากรแบบต่อเนื่อง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

ทั้งนี้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก 
ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ตัวอย่างที่ชัดเจน ดังต่อไปนี้

1. การเติบโตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า: มีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีตัวเลือกที่หลากหลายและราคาที่แข่งขันได้

2. การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่: ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ด้วยความร่วมมือจากสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน

3. การขยายสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า: จำนวนสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ช่วยลดความกังวลเรื่องระยะทางและกระตุ้นการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล ประธานภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เปิดเผยถึงที่มาของการจัดตั้งภาคี ที่ได้ริเริ่มมาจากความต้องการลดข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านมอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์สันดาปเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า  จึงได้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระทรวง อว. และหน่วยงานภาคเอกชนทั้ง 9 หน่วยงาน ดำเนินโครงการวิจัยใน “โครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์ม แพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย” ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ปี 2564 ซึ่งโครงการนี้เสร็จสิ้นสำเร็จไปเมื่อต้นปีนี้ โดยหนึ่งในผลลัพธ์หลักที่ได้คือ ข้อกำหนดของคุณลักษณะมาตรฐานสำหรับแพ็กแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พร้อมต้นแบบทดสอบ ที่ผ่านการหารือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่าสองร้อยราย

จากผลงานและการตอบรับจากผลลัพธ์ของโครงการได้จุดประกายเล็กๆ ให้เกิดการขยายผลในระดับภาคีเครือข่ายที่กว้างขวางขึ้นในวันนี้ ในนาม “ภาคีเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนได้สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก” มีเป้าหมายหลักในการลดข้อจำกัดของการใช้งานแบตเตอรี่ในประเทศไทย ครอบคลุมประเด็นด้านราคา ความปลอดภัย และคุณภาพ ผ่านการพัฒนามาตรฐานกลางในด้านขนาด ระบบไฟฟ้า การเชื่อมต่อ และการสื่อสาร ให้เกิดตลาดและการพึ่งพาในประเทศภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยสู่มาตรฐานสากล และมุ่งหวังว่าภาคีที่ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนนี้ จะจุดประกายเล็กๆ ให้เกิดการขยายผล เกิดความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตและให้บริการยานยนต์สมัยใหม่ที่มีมาตรฐาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม และสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยต่อไป

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ