รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ติดตามความก้าวหน้าการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ติดตามความก้าวหน้าการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ

   เมื่อ : 5 ก.ค. 2567

วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สรุปผลการรับมอบและเก็บรักษาประติมากรรมพระศิวะ (Golden boy) และประติมากรรมสตรีพนมมือ ที่รับมอบจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน และแจ้งข่าวการรับมอบโบราณวัตถุจากสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก สหรัฐอเมริกา รวมถึงติดตามความก้าวหน้าในการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศเพิ่มเติม

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ครั้งที่ 2/2567 ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 อาคารวัฒนธรรมวิศิษฏ์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยในที่ประชุมได้สรุปผลการรับมอบประติมากรรมพระศิวะ (Golden boy) และประติมากรรมสตรีพนมมือ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน จากนั้นได้แจ้งความคืบหน้ากรณีสถาบันศิลปะแห่งนครชิคาโก ได้ตรวจสอบชิ้นส่วนเสาติดผนังรูปพระกฤษณะยกเขาโควรรธนะ และพบว่ามีที่มาจากปราสาทประธานของปราสาทพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ จึงได้แจ้งความประสงค์ผ่านสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก เพื่อส่งกลับคืนสู่ประเทศไทย

​นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังได้ติดตามผลการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศที่ได้มีมติให้ติดตามนับตั้งแต่ปี 2560 ทั้งในส่วนที่ได้รับกลับคืนสู่ประเทศไทยแล้ว ที่คณะอนุกรรมการด้านวิชาการเพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศมีมติให้ติดตามเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน  ได้แก่ กลุ่มโบราณวัตถุที่เก็บรักษาในสหรัฐอเมริกา เช่น ประติมากรรมสำริดกลุ่มประโคนชัย โบราณวัตถุจากเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และพระพุทธรูปประทับเหนือพนัสบดี จากเมืองโบราณซับจำปา จ.ลพบุรี เป็นต้น โดยกระทรวงวัฒนธรรมได้ความร่วมมือและการสนับสนุนการดำเนินงานจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี

รมว. สุดาวรรณ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของโบราณวัตถุที่ปัจจุบันจัดแสดงและเก็บรักษา ณ พิพิธภัณฑ์ในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมนี ประเทศเบลเยียม และประเทศออสเตรเลีย  คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางที่คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายเพื่อติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศได้นำเสนอ และหารือร่วมกับคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี และสื่อมวลชน เพื่อติดตามโบราณวัตถุเหล่านั้นกลับคืนสู่ประเทศไทยต่อไป โดยการติดตามโบราณวัตถุ​จะเน้นการติดตามให้เป็นไปอย่างมีไมตรีและรักษา​ไว้ซึ่งความสัมพันธ์​ระหว่าง​ประเทศ​ โดยดำเนินการผ่านช่องทางการทูต ทั้งนี้ ยังได้กำหนดให้มีการจัดประชุม​คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยเป็นรายไตรมาส และอัพเดทข้อมูลการติดตามโบราณวัตถุอย่างต่อเนื่อง

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ