สอศ. จัดแข่งขัน ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ไปแข่งขันต่อที่เวียดนาม

สอศ. จัดแข่งขัน ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ไปแข่งขันต่อที่เวียดนาม

   เมื่อ : 8 ก.ค. 2567

วันที่ 7 ก.ค. 67 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานเปิดและปิดงานการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีดร.นิรุตต์ บุตรแลนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน นายสมบูรณ์ แผนสมบูรณ์ นายอำเภอเมืองกาญจนบุรี  นายโอภาส ต้นทอง ศึกษาธิการอำเภอจังหวัดกาญจนบุรี ศ.ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการวิชาการหุ่นยนต์ ABU THAILAND ผู้บริหารสถานศึกษา ข้าราชการ บุคลากร  นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วม ณ โดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนบุรี  จังหวัดกาญจนบุรี
 

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย - ญี่ปุ่น) และขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับทีมหุ่นยนต์ตัวแทนระดับอุดมศึกษาจำนวน 8 ทีม และทีมหุ่นยนต์ตัวแทนระดับอาชีวศึกษา จำนวน 8 ทีม ที่ผ่านการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ หุ่นยนต์ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ที่ทุกทีมต้องแสดงศักยภาพ ในการ ”ปลูกต้นกล้า เก็บเกี่ยวผลผลิตซึ่งเป็นข้าวเปลือกและข้าวลีบ พร้อมนำข้าวเปลือกเก็บใส่ยุ้งฉาง” ภายใต้เกมการแข่งขัน ”วิถีข้าว วิถีไทย สู่วิถีสากล” ซึ่งเป็นกติกาการแข่งขันหุ่นยนต์ของประเทศเวียดนาม เป็นการแสดงให้เห็นว่า เยาวชนไทยทั้งในระดับอุดมศึกษาและในระดับอาชีวศึกษา ให้ความสนใจในการศึกษาเรียนรู้ ด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีหุ่นยนต์อย่างหลากหลาย อันจะเป็นตัวชี้วัดการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่แสดงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันและการนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทัดเทียมกับมาตรฐานในระดับสากลและยังเป็นการนำเทคโนโลยีจากหลากหลายสาขาวิชา ในด้านวิศวกรรมมาพัฒนา ประดิษฐ์ คิดค้น นวัตกรรมหุ่นยนต์ไทยที่มีความสามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม เป็นการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง 

รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อว่า การแข่งขันในครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมสำคัญที่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้เยาวชนของประเทศ เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ให้ไปสู่การใช้งานได้จริง ทั้งในงานภาคอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจบริการ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้นักเรียน นักศึกษา ให้ความสำคัญและสนใจด้านเทคโนโลยีเพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม มีความคิดอย่างสร้างสรรค์ และยังสร้างความรักความสามัคคีในหมู่คณะ  ทั้งนี้ให้สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาและสถานศึกษาในสอศ. ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมนักเรียน นักศึกษา ให้รู้จักและสนใจในวิทยาการด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ พร้อมมุ่งพัฒนากำลังคนด้านหุ่นยนต์ในประเทศ ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้จริงในภาคการผลิตและธุรกิจบริการ พร้อมผลักดันให้เกิดการพัฒนาวิทยาการด้านหุ่นยนต์ให้มากยิ่งขึ้น 

ด้านดร.นิรุตต์ บุตรแลนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดการแข่งขันในครั้งนี้ เพื่อคัดเลือกทีมหุ่นยนต์ ABU THAILAND จำนวน 1 ทีม เป็นตัวแทนของ

ประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ในระดับนานาชาติ  ระหว่างวันที่ 23-27 สิงหาคม 2567  ณ ประเทศเวียดนาม (ABU Asia-Pacific Robot Contest 2024 Vietnam) ซึ่งการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ในครั้งนี้ มีทีมหุ่นยนต์ในระดับอาชีวศึกษา ที่ผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันหุ่นยนต์ในงาน ”มหกรรมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา” ระดับชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2567 จำนวน 8 ทีมจากสถานศึกษาในสังกัด สอศ. ประกอบด้วย

1) วิทยาลัยเทคนิคนครนายก  ทีมขุนด่านปราการชล 

2) วิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี ทีมยูคาลิปตัส 

3) วิทยาลัยการอาชีพท่าตูม ทีมพนมดิน ROBOT

4) วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์  ทีมKTC. DINOROBOT 

5) วิทยาลัยเทคนิคสว่างแดนดิน ทีมนายฮ้อยทมิฬ Legend Two

6) วิทยาลัยเทคนิคลำพูน ทีมLTC. Robot 

7) วิทยาลัยเทคนิคเซกา ทีมเซกาโรบอท 2024

8) วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี  ทีมLB. Tech Robot 

และทีมหุ่นยนต์ในระดับอุดมศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันหุ่นยนต์ ”ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช 2567” จำนวน 8 ทีมจากสถาบันการศึกษา ในสังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกอบด้วย

1) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทีมiRAP_Let’go 

2)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทีมGoose Rider

3) สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ทีมIVEC3 ROBOT 

4) มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทีมลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ 

5) สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ทีมMechatronics 1

6) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทีมกันเกรา 

7) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทีมDemeter 

8) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี ทีมRC Modracle

ทั้งนี้ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศ จะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันต่อในการแข่งขันหุ่นยนต์ ”ABU Asia-Pacific Robot Contest 2024 Vietnam” ณ ประเทศเวียดนาม ต่อไป

ผลการแข่งขันหุ่นยนต์ ABU ชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 

รางวัลชนะเลิศ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ทีม iRAP_Let’go 

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1  วิทยาลัยเทคนิคนครนายก  ทีมขุนด่านปราการชล 

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชบุรี ทีม RC Modracle 

รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 3 วิทยาลัยเทคนิคลำพูน ทีมLTC. Robot  

โดยทั้ง 4 อันดับจะได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ พร้อมเกียรติบัตรเหรียญทอง

รายวัลชมเชย  เกียรติบัตรเหรียญเงิน  จำนวน 4 ทีม ได้แก่

1.วิทยาลัยเทคนิคเซกา ทีมเซกาโรบอท 2024

2.วิทยาลัยเทคนิคสว่างแดนดิน ทีมนายฮ้อยทมิฬ Legend Two 

3.มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทีมกันเกรา 

4.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ทีมMechatronics 1

รางวัลชมเชย เกียรติบัตรเหรียญทองแดง จำนวน 8 ทีม ได้แก่

1.วิทยาลัยการอาชีพกบินทร์บุรี ทีมยูคาลิปตัส 

2.วิทยาลัยเทคนิคลพบุรี  ทีมLB. Tech Robot 

3.สถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 3 ทีมIVEC3 ROBOT 

4.มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทีมลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ 

5.วิทยาลัยการอาชีพท่าตูม ทีมพนมดิน ROBOT

6.วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์  ทีมKTC.DINOROBOT 

7.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทีมGoose Rider

8. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ทีมDemeter 

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ