วว. จับมือ วช. มทร.ธัญบุรี ผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน วทน. ตอบโจทย์สังคมประเทศในอนาคต มุ่งยกระดับงานวิจัยสู่การผลิตจริง ขยายผลเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้ยั่งยืน

วว. จับมือ วช. มทร.ธัญบุรี ผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงด้าน วทน. ตอบโจทย์สังคมประเทศในอนาคต มุ่งยกระดับงานวิจัยสู่การผลิตจริง ขยายผลเชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้ยั่งยืน

   เมื่อ : 9 ก.ค. 2567

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดการประชุมเสวนา หัวข้อ “โครงการพัฒนาต้นแบบบัณฑิตปริญญาเอกสมรรถนะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสนับสนุน BCG Economy Model” ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมขับเคลื่อนตอบโจทย์การสร้างกำลังคนรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต โดยการพัฒนาบัณฑิตปริญญาเอกให้มีทักษะด้านการวิจัยและสมรรถนะด้านสังคม เพื่อให้มีความสามารถในการยกระดับงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตจริง สามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์และสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

โดยบัณฑิตที่ผลิตจากโครงการฯ จะมีจุดเด่นและเอกลักษณ์เฉพาะผ่านการเรียนรู้และปฏิบัติจริงเชิงธรุกิจ ในรูปแบบโมเดล “บัณฑิตนวัตกรรม (Innovation) ยกระดับงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตจริง (Scale Up) ขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ (Commercialization)” หรือ “InnoScaleCom” โดยแบ่งเป็นกลุ่มสมรรถนะสำคัญของบัณฑิตปริญญาเอก ดังนี้ 1. สมรรถนะต้นน้ำ มุ่งเน้นการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรม (Innovation) 2. สมรรถนะกลางน้ำ มุ่งเน้นนำนวัตกรรมมาสู่การผลิตจริง (Scale up) และ 3. สมรรถนะปลายน้ำ มุ่งเน้นการขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ (Commercialization)

ทั้งนี้ในการประชุมเสวนาได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ แสดงความคิดเห็นและถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ เพื่อสร้างให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้ 

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า บัณฑิตสมรรถนะสูงจะต้องมีคุณลักษณะที่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ เท่าทันเทคโนโลยี มี skill ในการแก้ไขปัญหา มีกรอบแนวคิดเชิงนวัตกรรม ทำงานตอบโจทย์ได้เร็ว พร้อมเปิดรับ/เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่มีความรู้เชิงวิชาการอย่างเดียว ต้องศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ มองไปข้างหน้าให้เป็น และมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า พระราชบัญญัติการอุดมศึกษา อนุญาตให้สามารถมีหลักสูตรที่แตกต่างไปจากมาตรฐานอุดมศึกษาได้ ซึ่งเรียกว่า sandbox โดยต้องตอบโจทย์ 2 ข้อ คือ 1) ผลิตกำลังคนได้อย่างเร่งด่วนและมีคุณภาพ 2) มีนวัตกรรมการศึกษาใหม่อยู่ในระบบของหลักสูตร สามารถกำหนดรูปแบบการจบการศึกษาได้ แต่ผลผลิตที่เกิดขึ้นต้องสามารถวัดผลได้และสร้าง impact ได้เพียงพอ ทั้งนี้กระทรวงสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการผลิตบัณฑิตปริญญาเอก เกิดการทำงานแบบ “Co-creation” ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบหลักสูตร หรือการกำหนดในหลักสูตรให้ วว. เป็นองค์กรร่วมผลิตบัณฑิตเพื่อออกแบบหลักสูตรร่วมกัน

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ที่ปรึกษาภาคเอกชน กล่าวว่า บัณฑิตสมรรถนะสูงควรมีทั้งความสามารถในเชิงวิชาการ การบริหารจัดการ การจัดการบุคคล ความรู้เชิงพาณิชย์ การเปิดรับสิ่งใหม่ๆ และความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น หลักสูตรแบบเดิมส่งเสริมการเติบโตในสายวิชาการ แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์สำหรับสายงานเชิงพาณิชย์ได้ ต้นน้ำ ควรเสริมความรู้ทางด้านเศรฐศาสตร์ กลางน้ำ ควรมีความรู้ด้าน feasibility study ปลายน้ำ ควรเพิ่มทักษะการเขียนแผนธุรกิจ การบริหารจัดการและการสร้าง collaboration การฝึกทำวิจัยกับ วว. ช่วยให้เห็นลักษณะการทำงานจริง โดย วว. มีแหล่งความรู้และทำงานกับภาคอุตสาหกรรม จะช่วยให้รู้ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

รศ.ดร.อัษฎาวุธ อารีสิริสุข ผู้รับผิดชอบหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า การดำเนินโครงการร่วมกันทำหลักสูตรนี้เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม ซึ่ง มทร. มีระบบนิเวศการเรียนและการสอนที่พร้อมในการทำงานกับภาคเอกชนและสถาบันการวิจัย และหลักสูตรจะทำหน้าที่เป็น Admin ช่วยให้การผลิตบัณฑิตสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ

ดร.ปิยะ ปานผู้มีทรัพย์ ผอ.สำนักยุทธศาสตร์วิสาหกิจ วว. ในฐานหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า การดำเนินตามแพลตฟอร์มของโครงการมุ่งเป้าการปิดช่องว่าง (Gap) ของการผลิตบัณพิตปริญญาโท-เอกคือ ด้านการขาดความร่วมมือกับภาคเอกชนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และด้านการขาดโครงสร้างพื้นฐานเพื่อต่อยอดงานวิจัยในระดับกึ่งอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรม

ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวถือเป็นโอกาสใหม่ทางการศึกษา ที่มุ่งให้บัณฑิตได้ปฏิบัติงานเชิงธุรกิจ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง โดยนำร่องดำเนินงานกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และจะขยายผลไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ ต่อไป โดยใช้กลไกและศักยภาพของ วว. ที่มีความพร้อมสูงในด้านโครงสร้างพื้นฐาน วทน. ที่สามารถบูรณาการเป็น open innovation สำหรับการพัฒนางานวิจัยขั้นสูงและผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงร่วมกับมหาวิทยาลัย รวมทั้งมีจุดแข็งชัดเจนด้านการมีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและมุ่งเน้นดำเนินการวิจัยครบทั้ง 3 ด้าน ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green economy)

“การดำเนินงานโครงการฯ เป็นการร่วมขับเคลื่อนนโยบายกระทรวง อว. ในการเตรียมทัพกำลังคน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมอนาคต (Future Workforce for Future Industry) อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจ BCG ซึ่ง วว. มีความพร้อมในการสนับสนุนและเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จภาคเอกชนให้เข้มแข็ง โดยบัณฑิตปริญญาเอกจากโครงการฯ จะเข้าไปเติมเต็มในภาคอุตสาหกรรม ด้วยศักยภาพด้านความสามารถในการยกระดับงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการสู่การผลิตจริง และสามารถขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีการเดิมที่มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการและการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการ” ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว