คณะนักวิจัย มช. ค้นพบกระดังงาชนิดใหม่ของโลกจากอุทยานธรณีโลกสตูล พร้อมตั้งชื่อไทย “เฉลิมพระเกียรติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง ร.10’ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
คณะนักวิจัย มช. ค้นพบกระดังงาชนิดใหม่ของโลกจากอุทยานธรณีโลกสตูล พร้อมตั้งชื่อไทย “เฉลิมพระเกียรติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ‘ในหลวง ร.10’ ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
กรุงเทพฯ 10 กรกฎาคม 2567 - สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) สนับสนุนคณะผู้วิจัย เพื่อดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงา (Annonaceae) ในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน” โดยจากการวิจัยพบข่าวดีคือพืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงาจากจังหวัดสตูล ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Orophea chalermprakiat Damth. Chanthamrong & Chaowasku และคณะผู้วิจัยได้ตั้งคำระบุชนิดว่า “chalermprakiat” และตั้งชื่อไทยว่า “เฉลิมพระเกียรติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28กรกฎาคม 2567
สำหรับคณะผู้วิจัยที่ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.อานิสรา ดำทองดี นักวิจัยหลังปริญญาเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรจง ทองสร้าง อาจารย์ ดร.สุวรรณี พรหมศิริ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ดร.ฉัตรธิดา วิยา นักวิชาการ สังกัดองค์การสวนพฤกษศาสตร์ นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายธานี ใจสมุทร สังกัดวิสาหกิจชุมชนกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านหาญ และนายกิติศักดิ์ ฌานธำรง นักวิจัยอิสระ โดยการค้นพบครั้งสำคัญนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติPhytotaxa เล่มที่ 658 ฉบับที่ 3 หน้าที่ 296-300 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 อีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ต้น “เฉลิมพระเกียรติ” มีลักษณะเด่นคือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 8 เมตร กลีบดอกมีสีครีม กลีบชั้นในประกบกัน ปลายกลีบแยกออก โคนกลีบคอดเรียว จึงเกิดช่องเปิดระหว่างกลีบ ทำให้เห็นเกสรเพศผู้และเพศเมียอย่างชัดเจน พืชชนิดใหม่นี้พบขึ้นในหลุมยุบภายในถ้ำทะลุ ตำบลเขาขาว อำเภอละงู จังหวัดสตูล พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีสตูล ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย
นอกจากนี้ “เฉลิมพระเกียรติ” ยังเป็นพืชหายาก พบเพียง 15-20 ต้น โดยทุกภาคส่วนต้องช่วยกันอนุรักษ์ ไม่ให้สูญพันธุ์ พืชชนิดนี้สามารถพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ เนื่องจากมีทรงพุ่มสวย และมีดอกรูปทรงสวยงาม นอกจากนี้ ควรมีการศึกษาพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางชีวภาพจากต้นเฉลิมพระเกียรติ เพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นพืชสมุนไพรต่อไป