“เพชร” หนุ่มสถาปัตย์ การันตีด้วยนักศึกษาตัวอย่างประเภทเรียนดี ปี’ 65 และรางวัลดีเด่นระดับคณะ “เพชร” มจพ. ปี’66
“เพชร” หนุ่มสถาปัตย์ การันตีด้วยนักศึกษาตัวอย่างประเภทเรียนดี ปี’ 65 และรางวัลดีเด่นระดับคณะ “เพชร” มจพ. ปี’66
นายรัตนชัย อริยทัศน์ ชื่อเล่น “เพชร” ชั้นปีที่ 5 สาขาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เจ้ารางวัลนักศึกษาตัวอย่างประเภทเรียนดีของ คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ประจำปี 2565 และรางวัลนักศึกษาดีเด่นระดับคณะ “เพชร” ประจำปี 2566 “เพชร” ในลุคบุคลิกเป็นคนเงียบ ๆ เน้นเรียบง่าย ชอบทำงานศิลป์ ทั้งงานศิลปะและดนตรี ชอบเรียนรู้คน และชอบงานพัฒนาสังคม ค่ายอาสาพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ด้วยงานศิลปะ เพราะสมัยเด็กๆ คือชอบเรียนศิลปะ และชอบประกวดแบบการออกแบบสถาปัตยกรรม เพราะการประกวดทำให้เราได้เจอคนที่มีความหลงไหลในสถาปัตยกรรมเหมือนกัน เมื่อปี 2566 คว้ารางวัลชนะเลิศ ระดับประเทศและสากล “งาน Paradise MachineW สถาปัตยกรรม Bamboo Pavilion (ไม้ไผ่) “โครงการ (Bamboo Swing Game International) 2023” และได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 2 จากทั้งหมด 20 ทีม 10 ประเทศทั่วโลก เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งในระดับนานชาติที่กว่างโจว ประเทศจีนอีกด้วย
“เพชร” เล่าให้ฟังว่า ผมเติบโตในชุมชนคลองเตย หรือที่คนภายนอกเรียกว่า “สลัมคลองเตย” ในวัยเด็กพยายามเรียนให้ผ่านเกณฑ์ เพื่อที่จะได้รับทุนของชุมชนหรือทุนโรงเรียน เช่นนั้นมาโดยตลอด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายครอบครัว เมื่อช่วงอายุ 15 ปี ได้ย้ายบ้านออกจากคลองเตย และได้เข้าเรียนในระดับประกาศนียบัตร (ปวช.) ที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลปะอาชีวะ สาขาสถาปัตยกรรม ไม่ได้เลือกเรียนในระดับมัธยมปลาย เพราะรู้ตัวว่าชอบเรียนศิลปะตั้งแต่เด็ก และรู้สึกได้ว่า”อยากเรียนเพื่อใช้ไม่ใช่เรียนเผื่อใช้” เมื่อเรียนจบในระดับ ปวช.ได้เข้าศึกษาต่อที่ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เรียกได้สักพักแล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ไม่ชอบที่จะเรียนในศาสตร์วิชาชีพครูเท่าที่ควร เพราะความต้องการจริง ๆ นั้นอยากจะศึกษาในสาขาสถาปัตยกรรม จึงได้เลือกสอบอีกทีคือที่ สจล. แต่ไม่ได้ สุดท้ายมาสอบได้ที่ คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเจ้าพระนครเหนือ ดังที่ตั้งใจไว้ว่าจะเป็นลูกพระจอม
ส่วนตัวผมความชื่นชอบหลงใหลในสถาปัตยกรรม รวมถึงงานกิจกรรมค่ายอาสา และการประกวดออกแบบถือเป็นกิจกรรมที่มีอิทธิพลกับผมมากที่สุด เพราะนอกเหนือจากการพัฒนาทักษะด้านสถาปัตยกรรมแล้วยังทำให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และได้ร่วมกันส่งผลงานเข้าประกวด เช่น รางวัลชมเชย 10 ทีมสุดท้าย เช่น งาน Youth Yard Year สถาปัตยกรรม Public Space ประเภท Thai Social Space โครงการ (RE-imagining Thai Social Space) MQDC 2023 และโครงการ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) BIMObject 2023
สำหรับเรื่องการเรียนและการปฏิบัติตัวเองนั้น หลัก ๆ ผมจะพยายามมีวินัยและความรับผิดชอบในการเรียนให้สูงต่องานที่ได้รับ มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และผู้คนให้มาก และไม่หยุดที่จะพัฒนาความรู้ของตนเอง เช่น สมหวังมาแล้วที่ สอบติดตั้งแต่รอบแรกในอัตราการแข่งขัน 1:10 ความประทับใจ ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดแบบระดับประเทศกับเพื่อนในห้อง และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งต่อในระดับสากลที่ประเทศจีนพร้อมได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ส่วนความผิดหวัง ก็กำลังพยายามหารายได้เสริม โดยการรับงานนอก แต่ยังไม่สามารถส่งตัวเองเรียนได้แบบ 100% คงต้องรอโอกาส และจังหวะที่ดีๆ “ผม” ต้องเป็นคนที่ไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ทั้งด้านการเรียนและการเข้าสังคม ควรให้เกียรติทุก ๆ คนที่รู้จักทั้งต่อหน้าและลับหลัง
การเรียนและการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้มีความสุขและได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ ผมพยายามที่จะไม่ได้เรียนเพียงอย่างเดียว ควรจะมีมุมพักผ่อนหรือออกค่ายทำกิจกรรมต่างๆนอกเหนือจากการเรียนด้วย โดยส่วนตัวผมจะชอบหาประสบการณ์ในเวทีที่จัดการประกวดแบบภายนอกที่ได้ออกไปพบเจอเพื่อน ๆหลายมหาลัย เพื่อที่จะได้และเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ได้พบเจอคนเก่ง ๆ เพื่อที่จะซึมซับและพัฒนาตนเองให้ไปอยู่ในระดับประเทศตลอดเวลา สามารถนำความรู้นอกห้องเรียนมาประยุกต์ใช้กับการเรียนในการเรียนได้อีกด้วย การออกค่ายอาสาก็สำคัญ สามารถนำความรู้ความสามารถเราไปพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ได้ เช่น “ผมเองได้มีโอกาสนำความรู้ในด้านสถาปัตยกรรม ไปออกค่ายพัฒนาพื้นที่ริมทะเลในจังหวัดระยอง” ให้มีศักยภาพทางด้านการอยู่อาศัยและพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ได้ด้วย
ประทับในอาจารย์หลายท่านในคณะ ที่มีส่วนในการส่งเสริมและพัฒนาแนวคิดเด็กโดยไม่ยัดความคิดตนเองลงไปในงานที่เด็กออกแบบ เพื่อทำให้เด็กมีอิสระในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตนเองอย่างเต็มที่และพร้อมผลักดันเด็ก เช่น อาจารย์ สุรนาฎ เกิดอิ่ม และอาจารย์ ธนัชพงศ์ เมธีปิยะวัฒน์ เป็นอาจารย์ที่สามารถปรึกษาได้ทุกเรื่องนอกเหนือจากการเรียน ยังรวมไปถึงการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยและการวางตัวในสังคมต่าง ๆ ผมมองว่านอกเหนือจากการเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีความรู้และทักษะหลาย ๆ ได้เจอผู้คนที่เก่ง ๆ มากมาย ได้พัฒนาทักษะการใช้ชีวิต ได้พบเจอเพื่อน และอาจารย์ที่มีอิทธิพลต่อการเติบโตของช่วงวัยรุ่นของเราเอง ได้เรียนรู้การอยู่คนเดียวในชีวิตเด็กหอ ได้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและการเรียน รวมไปถึงงานและกิจกรรมกลุ่มที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันกับผู้คนหรือเพื่อน เป็นต้น
“Man is born free but he is everywhere in chains” “มนุษย์เกิดมาอย่างเสรี แต่ทุกที่กลับเต็มไปด้วยโซ่ตรวนแห่งพันธนาการ” อย่างที่ผมได้บอกตอนแนะนำตัวว่าผมได้มีโอกาสเกิดและโตชุมชนคลองเตย ทำให้ผมได้เจอเพื่อน พี่ น้อง หรือผู้คนในชุมชนที่มีความเก่งและมีความสามารถมาก แต่ต้องเจอบริบทสังคมหรือความจนที่บีบบังคับทำให้คนในชุมชนไม่สามารถมีโอกาสในการพัฒนาตนเองหรือมุ่งทางที่ผิด ผมจึงคิดว่า “โอกาส” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำลายโซ่ตรวนแห่งพันธนาการ ในวัยเด็กเมื่อผมมีโอกาสในการเล่าเรียน ผมก็พยายามตั้งใจเล่าเรียนเพื่อให้ตัวเองให้ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย และในอนาคตเมื่อผมมีความรู้ความสามารถมากพอ ผมจะนำ “ โอกาส “ กลับไปพัฒนาและส่งต่อให้คนรุ่นใหม่อย่างแน่นอน