สกสว. หนุนกองทุน ววน. เสริมความโดดเด่นงานปฎิบัติการเคมี - ศูนย์ทดลอง - สาธารณสุข“สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” พร้อมมุ่งยกระดับ 6 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เสริมคุณภาพชีวิตประชาชน
สกสว. หนุนกองทุน ววน. เสริมความโดดเด่นงานปฎิบัติการเคมี - ศูนย์ทดลอง - สาธารณสุข“สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์” พร้อมมุ่งยกระดับ 6 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เสริมคุณภาพชีวิตประชาชน
กรุงเทพฯ 16 กรกฎาคม 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจแนวทางการบริหารจัดการแผนงานและงบประมาณการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) เพื่อการประเมินศักยภาพของหน่วยงาน (Past Performance) ตามที่ได้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และตอบโจทย์ของประเทศ ทั้งการศึกษาวิจัยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี งานวิจัยพัฒนายาเคมีรักษาโรคมะเร็ง โดยบูรณาการองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างห้องปฏิบัติการวิจัย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย พร้อมเยี่ยมชมผลงานเด่นและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำวิจัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. โดยมี รศ. ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายบริหารและอาคารสถานที่ พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยและวิชาการ และคณะผู้บริหาร นักวิจัยเชี่ยวชาญ ให้การต้อนรับ
ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร รองผู้อำนวยการ สกสว. กำกับดูแลกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ สกสว. กล่าวว่า ภาพรวมของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุน ววน. ที่มุ่งส่งเสริม สนับสนุนและขับเคลื่อนระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และสหวิทยาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ พัฒนานโยบายสาธารณะและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน พร้อมอธิบายถึงโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นโครงการด้านการลงทุน สำหรับการสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อมุ่งสู่การยกระดับความสามารถในการผลิตและบริการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่อไปในอนาคต
ศ.เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงมธุรส รุจิรวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิจัยและวิชาการ กล่าวถึง การดำเนินงานด้านการวิจัย ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จะมีการกำหนดพื้นที่การวิจัยที่มีความสำคัญ (Priority Research Areas) ที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาสำคัญของประเทศ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิจัย 9 ห้อง ศูนย์เฉพาะกิจ 3 ศูนย์ และสำนักงานสำนักวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยดำเนินงานวิจัย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเคมี ด้านชีวการแพทย์ และด้านพิษวิทยาและอนามัยสิ่งแวดล้อม พร้อมมีโครงการวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อตอบโจทย์ของประเทศ คือ การศึกษาวิจัยโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี งานวิจัยพัฒนายาเคมีรักษาโรคมะเร็ง โดยบูรณาการองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างห้องปฏิบัติการวิจัย การใช้ประโยชน์งานวิจัยโดยศูนย์เฉพาะกิจ ได้แก่ ศูนย์วิจัยเพื่อการประยุกต์ใช้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ ศูนย์สัตว์ทดลอง รวมทั้งมีสำนักงานสำนักวิจัย และศูนย์สัตว์ทดลอง ที่เป็นหน่วยงานสนับสนุน
ขณะที่ ผศ. ดร.ชินวุธ พิพัฒน์ภากุล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนา ววน. ด้านกำลังคนและสถาบันความรู้ ได้ร่วมนำเสนอข้อมูลการรับงบประมาณจากกองทุน ววน. ของหน่วยงาน และแนวทางการติดตามและประเมินผลหน่วยรับงบประมาณจากกองทุน ววน. การประเมินศักยภาพของหน่วยงาน (Past Performance) และแลกเปลี่ยนเปลี่ยนในประเด็น
ต่าง ๆ ก่อนลงพื้นที่เยี่ยมชมผลงานเด่นและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำวิจัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. ดังนี้
1. ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชเคมี ที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยที่ไม่เพียงแต่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังสามารถตอบสนองต่อความท้าทายและความเร่งด่วนของปัญหาสาธารณสุขได้ โดยงานวิจัยที่ทางห้องปฏิบัติการฯ ให้ความสำคัญแบ่งออกเป็น 5 ด้าน คือ 1. การพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพ 2. การสังเคราะห์สารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ 3. การประยุกต์ใช้เคมีคำนวณในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของสารและการศึกษากลไกของปฏิกิริยา 4. การประมวลผลทางเภสัชกรรมและความเป็นพิษของสาร 5.การพัฒนาการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรมในระดับกิโลกรัม
2. ห้องปฏิบัติการวิจัยเคมีอินทรีย์สังเคราะห์ ที่มุ่งเน้นการนำวิธีการสังเคราะห์ทางเคมีมาใช้ในการสังเคราะห์สารประกอบที่มีศักยภาพในการเป็นยา หรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารประกอบเพื่อเพิ่มความสามารถในการออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งมีที่มาจากการเกิดโรคอุบัติใหม่หลายชนิดในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นโรคติดต่ออันเกิดจากการพัฒนาของเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และจุลชีพต่าง ๆ รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งมักพบมากในผู้สูงอายุและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จนส่งผลกระทบต่อสาธารณสุขของประเทศ และในปัจจุบันประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าตัวยาสำคัญจากต่างประเทศมีมูลค่าสูงในแต่ละปี การศึกษาวิจัยและสังเคราะห์สารประกอบที่มีศักยภาพในการเป็นยาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
3. หน่วยวิจัยและวิเคราะห์คุณภาพอาหารและยา (FDQ) ห้องปฏิบัติการทดสอบที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อสนับสนุนการควบคุมคุณภาพของกระบวนการพัฒนายา ให้บริการทดสอบปริมาณโลหะหนักโดยใช้เทคนิคการตรวจวิเคราะห์ที่ได้มาตรฐานด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ดำเนินการโดยนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
4. หน่วยวิจัยเพื่อการประยุกต์ใช้ เพื่อการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะในสาขาชีวการแพทย์ ที่มีความสำคัญต่อการปรับปรุงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิตมนุษย์ โครงการวิจัยการแปลผลกำลังดำเนินการในห้องปฏิบัติการหลายแห่งของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินการโครงการวิจัยที่นำความรู้พื้นฐานไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งด้านการบำบัดและอาหารเสริม
5. ศูนย์สัตว์ทดลอง มีพันธกิจในการจัดการและการเลี้ยงสัตว์ทดลอง การรักษาพยาบาลสัตว์ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลและการใช้สัตว์ รวมถึงประเด็นทางการแพทย์ของสัตวแพทย์ในการพัฒนากระบวนการการใช้สัตว์ สนับสนุนการปฏิบัติตามกระบวนการการใช้สัตว์ การฝึกอบรมในการดูแลและการใช้สัตว์ทดลอง และการรายงานข้อกำหนดต่อคณะกรรมการการดูแลและการใช้สัตว์ของสถาบัน
6. ศูนย์วิจัยและพัฒนาชีววัตถุ มีหน้าที่เชื่อมช่องว่างระหว่างการพัฒนายาในระดับห้องปฏิบัติการและการใช้ทางคลินิก การพัฒนาชีวเภสัชกรรมเริ่มต้นจากการสร้างเซลล์สายพันธุ์ที่ผลิตชีวเภสัชกรรมที่น่าสนใจ การกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ การพิสูจน์ประสิทธิผลในหลอดทดลองและในร่างกาย การทดสอบพิษ และการศึกษาทางคลินิก การพัฒนาขั้นตอนและการขยายขนาดจนถึงการผลิตชีวเภสัชกรรมสำหรับใช้ทางคลินิกโดยปฏิบัติตามมาตรฐาน GMP ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนายา
ทั้งนี้ สกสว. เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน