“ศุภมาส” ลั่นเชื่อมั่นระบบอุดมศึกษาไทย เสวนาคนรุ่นใหม่ในงาน อว.แฟร์ “5 ปี : อว. กับการปฏิรูป อววน. และทิศทางในอนาคต” เผยทำทุกอย่างเพื่อให้ลูก – หลานไทยเติบโตขึ้นมาโดยมีระบบการศึกษาที่ดีในอนาคต มุ่งมั่นผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพเพียงพอต่ออุตสาหกรรมตลาดแรงงาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในเรื่องแรงงานทักษะสูง

“ศุภมาส” ลั่นเชื่อมั่นระบบอุดมศึกษาไทย เสวนาคนรุ่นใหม่ในงาน อว.แฟร์ “5 ปี : อว. กับการปฏิรูป อววน. และทิศทางในอนาคต” เผยทำทุกอย่างเพื่อให้ลูก – หลานไทยเติบโตขึ้นมาโดยมีระบบการศึกษาที่ดีในอนาคต มุ่งมั่นผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพเพียงพอต่ออุตสาหกรรมตลาดแรงงาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนในเรื่องแรงงานทักษะสูง

   เมื่อ : 23 ก.ค. 2567

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานเสวนา “5 ปี : อว. กับการปฏิรูป อววน. และทิศทางในอนาคต” เนื่องในโอกาสครบรอบการสถาปนากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 5 ปี ในงาน อว.แฟร์ พร้อมด้วย นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง อว. เข้าร่วม ณ Mini Stage ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า กระทรวง อว. มีหน้าที่สำคัญในการผลิตกำลังคนในสาขาวิชาต่าง ๆ พร้อมได้เตรียมหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อที่จะรองรับการผลิตแรงงานทักษะสูงในอนาคตอันใกล้นี้ รวมทั้งปลดล็อกหลักเกณฑ์ที่ทำให้การอุดมศึกษาไทยก้าวไปได้ช้า ปัจจุบันเราสามารถทำให้เด็กจบมหาวิทยาลัยได้ก่อน 2 ปี เรามีหลักสูตรแซนด์บ็อกส์มากมายที่จะรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เราทำให้ non-degree มีความสำคัญไม่แพ้ degree ในขณะนี้นักศึกษาไม่จำเป็นจะต้องรอจบ 4 ปี แล้วเริ่มทำงาน แต่สามารถทำงานควบคู่ไปกับการเรียนได้แล้ว ในปัจจุบันนโยบายของทางรัฐบาล คือ ต้องการให้กระทรวง อว. เร่งผลิตกำลังคน ซึ่งกระทรวงเองสามารถดำเนินการได้ดี ตอบโจทย์ 8 เสาหลักของนโยบาย Ignite Thailand เรามีโครงการแซนด์บ็อก์ 14 หลักสูตร ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนปริญญาตรีได้ตั้งแต่ยังอยู่มัธยมศึกษาชั้นปีที่ 4-6 นอกจากนั้น ยังสามารถเรียนข้ามสาขาวิชา ข้ามมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ในการศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่สำหรับคนอายุ 18-25 ปี เหมือนในสมัยก่อนแล้ว แต่จะเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับคนทุกช่วงวัย (Life Long Learning)

 

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ล่าสุด พรบ.อุดมศึกษา 4 ฉบับ ที่ทุกคนรอคอยกันมาเป็น 10 ปี วันนี้ได้เข้าผ่านครม.และสภาผู้แทนผ่านวาระที่ 1 รับหลักการแล้ว ขณะนี้อยู่ในชั้นกรรมาธิการ อีกไม่นาน พรบ.อุดมศึกษาทั้ง 4 ฉบับ จะผ่านออกมาให้พวกเราได้ใช้ ให้เราได้มีกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา โดยจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของพวกเราชาวอุดมศึกษาและการศึกษาของประเทศไทย เพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาบัณฑิตรองรับตลาดแรงงานทักษะสูง

”ทุกอย่างที่ดำเนินการไปก็เพื่อให้ลูก-หลานของเราเติบโตขึ้นมาโดยมีระบบการศึกษาที่ดีในอนาคต ดิฉันเชื่อมั่นในระบบการศึกษาไทยและพยายามที่จะทำให้มหาวิทยาลัยของประเทศไทยน่าเรียนสำหรับทุกคน” รมว.อว. กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ หรือ “เคน เดอะสแตนดาร์ด” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและบรรณาธิการบริหาร The Standard ที่มาร่วมให้มุมมองในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ในการเสวนาครั้งนี้ ว่า นโยบายด้านอุดมศึกษาของกระทรวง อว.เดินมาถูกทาง ต่อไปคือการลงมือทำนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายต่อศักยภาพที่เรามี ทั้งการผลิตคนเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างตลาดแรงงานที่ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานทักษะสูง เช่น แพทย์ วิศวะ อาจารย์วิชาชีพต่างๆ เพียง 1.5เปอร์เซ็นต์ แรงงานทักษะปานกลาง 16.5 เปอร์เซ็นต์ และแรงงานทักษะต่ำมีถึง 82 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรจะพัฒนางานและทักษะของแรงงานให้ยกระดับสู่งานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือพัฒนาแรงงานให้มีทักษะที่หลากหลายทั้งรู้ลึก รู้กว้าง สามารถเชื่อมโยงบูรณาการและสังเคราะห์ได้ โดย 10 อันดับแรกของทักษะที่ต้องการภายในปี 2568 ประกอบด้วย การคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การใช้เหตุผล การเรียนรู้ด้วยตัวเอง การล้มแล้วลุกได้เร็ว-การรับมือกับภาวะกดดันและความยืดหยุ่น ความเป็นผู้นำ การสร้างอิทธิพลทางสังคม การใช้และติดตามเทคโนโลยี รวมถึงการออกแบบและการโปรแกรมมิ่ง

“สิ่งที่อยากเสนอให้กระทรวง อว.ลงมือทำคือ 1.จัดทำกรอบมาตรฐานทักษะแห่งชาติ 2.เปลี่ยนผ่านการศึกษาไทยจากยุค 3.0 สู่ 4.0 3.สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต 4.เริ่มนำ GEN AI มาใช้ 5.จัดการศึกษาตามอัธยาศัย 6.วิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างผลกระทบจริง และ 7.ปลุกความหวังให้คนในประเทศ” นายนครินทร์ กล่าว

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ