ส่งปลาไทยไล่ล่าปลาหมอคางดำ!

ส่งปลาไทยไล่ล่าปลาหมอคางดำ!

   เมื่อ : 26 ก.ค. 2567

กรมประมงเสริมความมั่นใจแก่ประชาชน ผลการศึกษาชี้ชัด การปล่อยปลาผู้ล่ากินลูกปลาหมอคางดำได้ ช่วยควบคุมแบบชีววิธี 

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งเกษตรกรชาวประมงและระบบนิเวศแหล่งน้ำในกว่า 16 จังหวัด ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน กรมประมงได้ออกมาตรการสำคัญ 5 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดยหนึ่งในนั้นคือ การปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการนี้จะดำเนินการต่อจากการใช้เครื่องมือประมงกำจัดปลาหมอคางดำร่วมกับชุมชนและหน่วยงานหลายภาคส่วน หลังจากที่ปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ถูกจับและลดจำนวนลง ปลาผู้ล่าที่ปล่อยนั้นจะไปกำจัดประชากรปลาหมอคางดำขนาดเล็ก ช่วยควบคุมวงจรการแพร่พันธุ์ของปลาในระยะต่อไป
         กรมประมงขอสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อยปลาผู้ล่า (Predatory Fish) ว่า การใช้ปลาผู้ล่าในการควบคุมชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นเป็นวิธีการควบคุมแบบชีววิธี (Biological Control) ที่ได้รับการวิจัยและนำมาใช้ในหลายประเทศอย่างกว้างขวาง ปลาผู้ล่าสามารถช่วยกำจัดสัตว์น้ำต่างถิ่นในบริเวณที่ไม่สามารถลงเครื่องมือประมงได้ เช่น ป่าชายเลน หรือ แหล่งน้ำที่มีอุปสรรคในการจับต่าง ๆ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในระยะยาว 

จากการวิจัยของกรมประมงในการใช้ปลากะพงขาวและปลาอีกงขนาด 4 นิ้ว ที่เพาะพันธุ์โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำชายฝั่งของกรมประมง ให้เป็นปลาผู้ล่าปลาหมอคางดำในพื้นที่ทดลองเลียนแบบธรรมชาติ พบว่า ปลากะพงขาวและปลาอีกงซึ่งสามารถอาศัยได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำที่มีความเค็ม สามารถใช้สัญชาตญาณนักล่าในการกำจัดปลาหมอคางดำขนาด 2-3 เซนติเมตร (ซึ่งเป็นขนาดที่กำลังจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ที่ประมาณ 4 เซนติเมตร) ได้วันละ 5-12 และ 3-4 ตัวต่อวัน ตามลำดับ แต่ไม่สามารถกินปลาหมอคางดำที่มีขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตรได้ เพราะก้านครีบที่แข็งเป็นอุปสรรคต่อการกินและระบบย่อยอาหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อปลาผู้ล่ามีขนาดใหญ่ขึ้นก็สามารถกำจัดปลาหมอคางดำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ปลาหมอคางดำแม้จะมีขนาดใหญ่ก็ไม่สามารถกินปลาผู้ล่าดังกล่าวได้ เนื่องจากขนาดของปากและขากรรไกรที่เล็กกว่า นอกจากปลากะพงขาวและปลาอีกงแล้ว ยังมีปลาผู้ล่าชนิดอื่น ๆ เช่น ปลากราย ปลาช่อน ปลากระสูบ ที่สามารถช่วยกำจัดปลาหมอคางดำได้เช่นกัน การเลือกชนิดพันธุ์ปลาผู้ล่าและอัตราการปล่อยให้เหมาะกับลักษณะของแต่ละพื้นที่หรือระบบนิเวศของแหล่งน้ำ เป็นเรื่องที่ต้องวางแผนและพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อรักษาสมดุลระบบนิเวศและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นเมืองที่มีอยู่เดิม รวมถึงการอยู่รอดของปลาผู้ล่าที่ปล่อยด้วย โดยทางสำนักงานประมงจังหวัดที่ประสบปัญหาจะเป็นผู้ดำเนินการเสนอแผนการปล่อยปลาผู้ล่า ผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการระบาดของปลาหมอคางดำระดับจังหวัดมายังกรมประมงเพื่อพิจารณาเห็นชอบ

 ทั้งนี้ กรมประมงเชื่อมั่นว่ามาตรการการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่องจะสามารถช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ  ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน กรมประมงได้เริ่มนำร่องปล่อยปลาผู้ล่าในบางพื้นที่แล้ว เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดระยอง เป็นต้น และกรมประมงจะมีการติดตามประเมินผลการปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่พันธุ์ ของประชากรปลาหมอคางดำขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น จำนวนปลาหมอคางดำลดลง จนถึงจุดที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูระบบนิเวศ กรมประมงจะเร่งดำเนินการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองในระบบนิเวศเดิม เพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำให้กับแหล่งน้ำของประเทศไทยสืบไป...อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ