สกสว. แจงหลักเกณฑ์ประเมินผลลัพธ์ - ผลกระทบ แผนงานวิจัยจากกองทุน ววน. “โครงการไม่เกิน 100 ล้าน” หนุนหน่วยรับงบสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกประเทศได้อย่างแท้จริง
สกสว. แจงหลักเกณฑ์ประเมินผลลัพธ์ - ผลกระทบ แผนงานวิจัยจากกองทุน ววน. “โครงการไม่เกิน 100 ล้าน” หนุนหน่วยรับงบสร้างการเปลี่ยนแปลงทุกประเทศได้อย่างแท้จริง
กรุงเทพฯ 30 กรกฎาคม 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์แนวทางการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของแผนงานที่มีงบประมาณน้อยกว่า 100 ล้านบาท ประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2568 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ โดยมีหน่วยรับงบประมาณ FF และหน่วยบริหารและจัดการทุนเข้าร่วมกว่า 300 คน
รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ ที่แต่งตั้งโดยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีหน้าที่หลัก คือ การประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรม และการประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยบริหารและจัดการทุน หรือ PMUs และหน่วยรับงบประมาณ หรือ Fundamental Fund : FF ซึ่งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯมีมติเห็นชอบต่อกรอบและหลักเกณฑ์การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบสำหรับแผนงานที่มีงบประมาณน้อยกว่า 100 ล้านบาท โดยให้หน่วยรับงบประมาณทำการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับเงินงบประมาณจากกองทุน ววน. ร่วมกับผู้ประเมินจากภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินผลลัพธ์และผลกระทบ
ทั้งนี้ การประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมจะประเมินผลลัพธ์และผลกระทบใน 2 มิติ คือ ผลกระทบเชิงวิชาการและผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การประเมินผลการดำเนินงานของ PMUs และหน่วยรับงบประมาณ FF จะประเมินจากความสามารถในการดำเนินการตามแผน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์และผลลัพธ์ผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงกระบวนการทำงานในการบริหารจัดการแผนงานหรือโครงการวิจัย สกสว. คาดหวังว่าผลลัพธ์จากการประเมินผลของกองทุน ววน. จะทำให้หน่วยรับงบประมาณสามารถบริหารและจัดการทุนได้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และระบบ ววน. ของประเทศถูกขับเคลื่อนและพัฒนาให้ดีขึ้นด้วยการทำงานแบบเครือข่ายระหว่าง สกสว. หน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ ตลอดจนหน่วยงานนอกระบบ ววน. ที่เกี่ยวข้อง อันจะนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์และผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ
ด้าน ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผล สกสว. กล่าวว่า สำหรับหลักการเบื้องต้นในการประเมิน หน่วยบริหารและจัดการทุน และหน่วยรับงบประมาณ FF จะมีเงื่อนไขในการประเมินที่ต่างกัน คือ หน่วยบริหารและจัดการทุน จะดำเนินการประเมินและรายงานผลการประเมินทุกปีงบประมาณ สำหรับหน่วยรับงบประมาณ FF จะดำเนินการประเมินทุก 2 ปีงบประมาณ ยกเว้นหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อปี จะต้องดำเนินการประเมินทุก 5 ปี โดยมีรายละเอียดตามหลักเกณฑ์การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบของแผนงานที่มีงบประมาณน้อยกว่า 100 ล้านบาท ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 วันที่ 26 มิถุนายน 2567
ท้ายที่สุด ผลการประเมินจะถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ และเป็นข้อมูลประกอบการชี้แจงงบประมาณต่อรัฐสภา และสื่อสารต่อสาธารณะ อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนผลถึงความสำเร็จของการดำเนินงานวิจัยและการบริหารจัดการของหน่วยรับงบประมาณ และสะท้อนให้เห็นว่างบประมาณลงทุนวิจัยและนวัตกรรมได้ก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบในวงกว้าง และสามารถขับเคลื่อนผลงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่สำคัญของประเทศ