สกสว. - บพข. ผนึก สภาดิจิทัลฯ พัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเต็มรูปแบบ เปิดรับฟังเสียงภาคเอกชน หนุนพัฒนาแผนด้าน ววน. ตรงโจทย์ทุกภาคส่วน

สกสว. - บพข. ผนึก สภาดิจิทัลฯ พัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเต็มรูปแบบ เปิดรับฟังเสียงภาคเอกชน หนุนพัฒนาแผนด้าน ววน. ตรงโจทย์ทุกภาคส่วน

   เมื่อ : 8 ส.ค. 2567

กรุงเทพฯ 8 สิงหาคม 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) ร่วมรับฟังโจทย์ความต้องการจากภาคเอกชน เพื่อนำข้อคิดเห็นไปพัฒนาแผนด้าน ววน. สนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนากำลังคน เพื่อการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้และผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมดิจิทัล และยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า นวัตกรรมด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์อยู่ในแผน P5 ของแผนด้าน ววน. ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายไว้ทั้งด้านมูลค่าการขายผลิตภัณฑ์และบริการเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ การมีจำนวนหน่วยงานภาครัฐหรือผู้ประกอบการไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการมีจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย พัฒนา และด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ ทั้งในสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น โดยความร่วมมือครั้งนี้ สกสว. มุ่งหวังที่จะรับฟังโจทย์ความต้องการของภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนด้าน ววน. ที่สนับสนุนการสร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่จะนำไปสู่การสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

ด้าน ม.ร.ว.นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาดิจิทัลฯ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรสำคัญในการทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน เพื่อยกระดับธุรกิจและอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล ทาง สภาดิจิทัลฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับทาง สกสว. และ บพข. ในการพัฒนาและสนับสนุนการวิจัยด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตลอดจนการนำองค์ความรู้และผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

ขณะที่ รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข. เปิดเผยว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาและส่งเสริมความก้าวหน้าทางดิจิทัลเทคโนโลยีในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจสำคัญของ บพข. ที่มุ่งหวังยกระดับผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการแข่งขัน ผ่านกลไก Knowledge Sharing ร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งด้านกำลังคน และองค์ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรม ให้เกิด Ecosystem ในการผลักดันผู้ประกอบการ และ สตาร์ตอัป ให้มีการยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ นำไปสู่ Digital Transformation โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ การเกษตรและอาหาร ยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัตโนมัติ และการท่องเที่ยว

  ทั้งนี้ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ ระหว่าง สกสว. บพข. และ DCT ในครั้งนี้ จะเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของการร่วมกันพัฒนากรอบวิจัย การพัฒนาระบบการบริหารจัดการงานวิจัย การสร้างระบบนิเวศ การพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้และผลจากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมดิจิทัล และยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ

นอกจากนี้ ภายในงานได้มีการแนะนำรูปแบบและกลไกของการสนับสนุนทุนจาก บพข. เพื่อให้ผู้ประกอบการ และภาคอุตสากรรมของสภาดิจิทัล ได้รับทราบเพื่อเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกัน และมีการถอดบทเรียนแนวทางการพัฒนางานวิจัยสู่การใช้งานจริง ผ่านเสวนาพิเศษ หัวข้อ “งานวิจัยไทยสู่เชิงพาณิชย์ Lesson Learning ที่ท้าทาย” โดย รศ. วิรุฬ ศรีบริรักษ์ นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย และ นางผาณิต เผ่าพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท พอยท์ ไอที คอนซัลทิ่ง จำกัด และมีการนำเสนอโครงการวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลโดยนักวิจัยทั้งจากทางภาครัฐ และภาคเอกชน อาทิ ระบบกรอบงานอัตโนมัติเพื่อการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธรัฐสำหรับรูปภาพทางการแพทย์ การพัฒนาต่อยอด smart breath และ breatheMAX เพื่อรองรับเทคโนโลยี Digital Twin สำหรับการบริการทางการแพทย์ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับวิเคราะห์ทำนายการเคลื่อนไหวในชุดพยุงหลังและเสริมแรง AgentiveX: large-scale multi-agent simulation Smart financial infrastructure for business Smart management of birds to reduce crop damage and contribute to global food security และแพลตฟอร์มกลางระบบตรวจสอบย้อนกลับสมุนไพรไทย

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ