ที่สุดของผลงานภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำปี 2567

ที่สุดของผลงานภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำปี 2567

   เมื่อ : 8 ส.ค. 2567

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ประกาศผลการตัดสินการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ฝีมือคนไทย ประจำปี 2567 หัวข้อ มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์  เผยภาพ “Deep Dark Space” “ฝนดาวตกเจมินิดส์ที่สามพันโบก” “Jupiter in Different Wavelengths” “ยอปากประกับทางช้างเผือก” “สายรุ้งแสงจันทรา” และภาพเคลื่อนไหว ”Electrifying Aurora Lofoten” คว้าที่สุดผลงานภาพถ่ายและวิดีโอประจำปีนี้ 

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า NARIT จัดการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์อย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 19 ได้เห็นวงการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในประเทศไทยเติบโตขึ้นมาก มีผู้หลงใหลการถ่ายภาพดวงดาวมากขึ้น ทั้งคุณภาพและความแปลกใหม่ของภาพถ่ายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 400 ภาพ การตัดสินภาพถ่ายเต็มไปด้วยความเข้มข้นและดุเดือด เนื่องจากผู้ที่ส่งภาพถ่ายเข้าร่วมประกวดมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด มีฝีมือการถ่ายภาพที่ไม่ธรรมดา สร้างสรรค์ผลงานออกมาให้มีความน่าสนใจ สร้างความหนักใจให้แก่คณะกรรมการเป็นอย่างมาก 

ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลที่มีความโดดเด่น ยกตัวอย่างประเภท Deep Sky Objects หรือวัตถุในห้วงอวกาศลึก ซึ่งคัดเลือกอันดับที่หนึ่งจากวัตถุท้องฟ้าที่ถ่ายภาพได้ยาก หาชมได้ยาก ไม่ค่อยมีผู้ถ่าย และใช้ความพยายามในการถ่ายภาพสูง ปีนี้ผลงานที่ได้รับรางวัลมีชื่อว่า “Deep Dark Space” โดย นายวชิระ โธมัส เป็นภาพของเนบิวลาฉลาม (LDN 1235) ซึ่งเป็นเนบิวลามืดที่สังเกตได้ยาก ปรากฏจางมากบนฟ้า และขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในเนบิวลาที่ถ่ายภาพได้ยากที่สุด อีกภาพคือ “สายรุ้งแสงจันทรา” โดย นายอาคม กิจวนิชประเสริฐ หากดูผิวเผินจะเห็นเป็นทิวทัศน์ของสายรุ้งกับน้ำตกทั่วไป แต่แท้จริงแล้วนั่นคือสายรุ้งที่เกิดในตอนกลางคืนจากแสงของดวงจันทร์ ซึ่งพบเห็นไม่บ่อยนัก ต้องอาศัยจังหวะและเวลา และฝีมือการถ่ายภาพ เพื่อบันทึกภาพปรากฏการณ์ได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ ยังเป็นปีแรกที่เปิดการแข่งขันใหม่ในประเภทวิดีโอหรือภาพเคลื่อนไหว ซึ่งได้รับความสนใจไม่น้อย และผู้เข้าร่วมประกวดต่างทำผลงานได้ดีมากเช่นกัน ทำให้คณะกรรมการต้องเพิ่มรางวัลชมเชยให้กับผู้เข้าร่วมประกวดจากเดิม 1 รางวัล เป็นรางวัลชมเชยทั้งหมด 3 รางวัล สำหรับผลงานที่ชนะในประเภทนี้คือ “Electrifying Aurora Lofoten” โดย นายเฉลิมเกียรติ สุวรรณปริญญา เป็นวิดีโอปรากฏการณ์ออโรรา หรือแสงเหนือ ณ หมู่เกาะโลโฟเทน ประเทศนอร์เวย์ รับชมความสวยงามได้ที่https://www.youtube.com/watch?v=D0MCg0YvKr0 

ผู้สนใจส่งผลงานภาพถ่ายดาราศาสตร์เข้าร่วม ติดตามข่าวสารการประกวดในปีถัดไปได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage 

 

ดาวน์โหลดไฟล์ภาพถ่ายที่ได้รับรางวัล  https://bit.ly/NARIT-Astrophotography-Contest-2024 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ