“คลินิกคุณภาพน้ำ” โดย นาโนเทค สวทช. ตัวช่วยตรวจ-รักษาสุขภาพน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
“คลินิกคุณภาพน้ำ” โดย นาโนเทค สวทช. ตัวช่วยตรวจ-รักษาสุขภาพน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย
(วันที่ 14 สิงหาคม 2567) ณ อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC 2) ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค)สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ส่ง ‘คลินิกคุณภาพน้ำ’ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย บูรณาการเทคโนโลยีเซนเซอร์ และการปรับปรุงคุณภาพน้ำ เป็นเสมือนคลินิกที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำ และรักษาให้น้ำมีคุณภาพดีเหมาะกับการอุปโภคบริโภค ขยับสู่แพลตฟอร์มถ่ายทอดองค์ความรู้ ขยายผลการใช้ประโยชน์ทั่วประเทศ ช่วยแก้ไขปัญหาและปรับปรุงคุณภาพน้ำให้กับชุมชนที่ต้องการ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ด้วยนวัตกรรม
ดร. ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวในกิจกรรม NSTDA Meets the press ว่า ปัจจุบัน น้ำเพื่อการอุปโภคในประเทศไทย 80% เป็นการให้บริการโดยหมู่บ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (น้ำประปาหมู่บ้าน) และ 17% ให้บริการโดย การประปาส่วนภูมิภาค และการประปานครหลวง ข้อมูลจากกรมอนามัยชี้ให้เห็นว่า น้ำประปาหมู่บ้านที่ได้มีมาตรฐาน ผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ของกรมอนามัยมีเพียง 34.4%
“แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ตรวจวัดคุณภาพน้ำ จัดการมลพิษที่แหล่งต้นกำเนิด เพิ่มประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน รวมทั้งการเสริมองค์ความรู้และศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับผู้นำชุมชนในการจัดการน้ำและคุณภาพน้ำ จากความสำคัญดังกล่าว คลินิกคุณภาพน้ำ โดย สวทช. จึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ องค์การส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยต่างๆ” ดร. ณัฏฐพรกล่าว
คลินิกคุณภาพน้ำ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ตรวจ และรักษา
สำหรับการตรวจนั้น นาโนเทค สวทช. โดย ดร. วีรกัญญา มณีประกรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน ใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์พัฒนาเป็นเซนเซอร์ตรวจวัดสิ่งปนเปื้อนในน้ำ ไม่ว่าจะเป็นไอออนโลหะ โลหะหนักและอโลหะ สารกำจัดศัตรูพืช
“เซนเซอร์ที่เราพัฒนานั้น แบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ เซนเซอร์เชิงแสงสำหรับตรวจวัดโลหะและโลหะหนัก ประกอบด้วย ชุดทดสอบไอออนของปรอท แมงกานิสและทองแดง ในน้ำ ซึ่งเป็นชุดทดสอบแบบง่ายและรวดเร็ว สามารถพกพาใช้งานในภาคสนามได้ และ เซนเซอร์เคมีไฟฟ้าสำหรับตรวจวัดโลหะและโลหะหนัก สามารถตรวจหาไอออนของแคดเมียม ตะกั่ว ทองแดง และปรอทในน้ำได้พร้อมกัน อาศัยเทคนิคเคมีไฟฟ้าเพื่อวัดสัญญาณเคมีไฟฟ้า ใช้ร่วมกับเครื่องวัดแบบพกพา โดยมีศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ช่วยพัฒนาอุปกรณ์เสริม ‘DuoEye Reader’ สำหรับประมวลผลปริมาณโลหะปนเปื้อนในน้ำชนิดแจ้งผลการตรวจได้ทันที จัดเก็บข้อมูลเข้าระบบคลาวด์ (Cloud) แบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดภาระงานให้แก่เจ้าหน้าที่ภาคสนาม และใช้ติดตามการปนเปื้อนของโลหะด้วยตนเอง
และเมื่อพบปัญหา ก็เข้าสู่การบำบัดรักษา ซึ่ง ดร.ณัฏฐพร กล่าวว่า นาโนเทคภายใต้แผนงานบูรณาการ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้จัดทำแนวทางการปรับปรุงระบบประปาผิวดิน โดยวิจัยและพัฒนาเครื่องมือประเมินสารช่วยตกตะกอนและแอปพลิเคชันบอกปริมาณสารช่วยตกตะกอนอย่าง“อุปกรณ์วัดความขุ่นแบบท่อชนิดแผ่นสังเกตเคลื่อนที่” และ“อุปกรณ์ช่วยตกตะกอนชนิดกวนด้วยแม่เหล็กแบบสองความเร็ว” สำหรับประเมินปริมาณสารสร้างตะกอน ระบบควบคุมการจ่ายสารช่วยตกตะกอน/สารฆ่าเชื้อ อุปกรณ์ดักตะกอนที่มีขนาดเล็ก และระบบ IoT สำหรับ automatic control และ online monitoring
ตามมาด้วยระบบผลิตน้ำดื่มจากน้ำบาดาล ที่รวมระบบผลิตน้ำดื่ม 120-250 L/h ระบบตกตะกอนและกรอง เมมเบรนเซรามิกนาโนคอมพอสิต และระบบ IoT สำหรับ automatic control และ online monitoring โดยเทคโนโลยีดังกล่าวได้นำร่องไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่จังหวัดลำปางและขอนแก่น ทำให้ 1500 ครัวเรือนสามารถเข้าถึงน้ำสะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน
“ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ การสร้างความมั่นคงของน้ำอุปโภคและบริโภคทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลได้จัดทำแผนขับเคลื่อนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 6 ขององค์การสหประชาชาติ ในเรื่องการสร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคนเราหวังให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากคลินิกคุณภาพน้ำ จะเป็นประโยชน์กับชุมชนหรือหน่วยงานที่ดูแลตรวจสอบเรื่องของคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค รับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้าน Green Economy เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งนาโนเทคเอง อยู่ระหว่างเสาะหาผู้สนใจนำต้นแบบเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ รวมถึงผู้ร่วมวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น และภาคเอกชนที่จะร่วมผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป” ดร. ณัฏฐพรทิ้งท้าย
คลินิกคุณภาพน้ำ โดย นาโนเทค สวทช. เป็น 1 ในทีมปฏิบัติการร่วมใน “ศูนย์ปฏิบัติการผู้พันวิทย์ อว.” ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. มีนโยบายจัดตั้งขึ้น ด้วยหวังนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี และตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนอย่างรวดเร็ว