ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยไบโอเทค คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 67
ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยไบโอเทค คว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 67
(15 ส.ค. 67) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว - ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ นักวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพสัตว์น้ำแบบบูรณาการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร ประจำปี พ.ศ. 2567 จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้วยผลงานวิจัยดีเด่นด้านเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร ที่ได้พัฒนาให้เกิดการนำเอาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการควบคุมและแก้ไขปัญหาโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำในกุ้งทะเล ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อภาคส่งออกและภาคสังคมของประเทศไทย โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีและมอบโล่รางวัล พร้อมด้วย ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ร่วมแสดงความยินดีในงาน
ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ มีความมุ่งมั่นในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้สนับสนุนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 เป็นต้นมา โดยมุ่งเป้าให้อุตสาหกรรมเป็นสังคมฐานองค์ความรู้ (Knowledge-based society) ที่ “ผู้ประกอบการกับนักวิจัยทำงานร่วมกันในการนำเอาข้อมูลทางด้านงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เข้าไปใช้ในการพัฒนาแนวทางใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการผลิตหรือใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” โดย ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ และคณะ มีความเชี่ยวชาญในงานวิจัยด้านการตอบสนองของกุ้งทะเลต่อเชื้อก่อโรคทั้งที่เป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา โดยได้ค้นพบไวรัสชนิดใหม่ในกุ้งทะเลเป็นคณะแรกของโลก เช่น ไวรัสหัวเหลือง type 4 ไวรัสแหลมสิงห์ และไวรัส Wenzhou shrimp virus 8 เป็นต้น นอกจากนี้ คณะวิจัยยังมีความเชี่ยวชาญในการศึกษากลไกการก่อโรคของเชื้อสาเหตุโรคระบาด เช่น แบคทีเรียสาเหตุปัญหากุ้งตายด่วนที่มีการสร้างสารพิษสองชนิดที่ต้องทำงานร่วมกันในการทำลายเซลล์ตับและตับอ่อนของกุ้ง เชื้อราที่เป็นสาหตุของกุ้งโตช้ามีการสร้างสปอร์ที่ทนต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีและเป็นสปอร์ที่จะยิง polar tube เข้าสู่เซลล์ตับและตับอ่อนของกุ้งเพื่อเข้าไปเพิ่มจำนวนในเซลล์ของกุ้ง ไวรัสที่เป็นสาเหตุการตายของกุ้งทะเลที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อมีการเลี้ยงกุ้งในหน้าหนาวที่อุณหภูมิต่ำต้องอาศัยตัวจับจำเพาะในเซลล์เม็ดเลือดของกุ้งในการแพร่กระจายในตัวกุ้งและทำให้เกิดการติดเชื้อในหลายอวัยวะสำคัญ เป็นต้น
ผลงานวิจัยพื้นฐานเหล่านี้ถูกนำไปใช้ในการประเมินแก้ไขปัญหาร่วมกับการบริหารจัดการการเลี้ยงของผู้ประกอบการ เช่น การพัฒนาวิธีการตรวจเชื้อก่อโรคที่มีประสิทธิภาพสูงที่นำไปใช้ในการตรวจเฝ้าระวังและคัดกรองเชื้อก่อโรคออกจากกระบวนการผลิต การพัฒนาสารชีวภาพออกฤทธิ์ขัดขวางการจับกันของตัวจับจำเพาะกับโปรตีนของเชื้อก่อโรคไม่ให้เข้าสู่เซลล์กุ้งเป้าหมาย การพัฒนาแนวทางการเตรียมบ่อเลี้ยงและน้ำเลี้ยงกุ้งทั้งในโรงเพาะฟักและบ่อผลิตจากคุณสมบัติของเชื้อก่อโรค การพัฒนาสายพันธุ์กุ้งปลอดเชื้อและทนโรคติดเชื้อไวรัสโดยอาศัยความรู้เรื่องกลไกการติดเชื้อแบบเชื้อคงอยู่และกลไกการอยู่ร่วมกันระหว่างกุ้งและไวรัส การพัฒนาสายพันธุ์กุ้งกุลาดำปลอดเชื้อและมีการเจริญเติบโตเร็วโดยอาศัยการคัดเลือกพันธุ์ รวมไปถึงการพัฒนาระบบการเลี้ยงสมัยใหม่ที่เป็นระบบน้ำหมุนเวียนที่มีการทำงานร่วมกับระบบตรวจวัดแบบดิจิทัลที่มีการตรวจเฝ้าระวังสุขภาพกุ้งตลอดระยะเวลาการเลี้ยงเพื่อรองรับปัญหาโรคระบาดที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นจากปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น
ดร.กัลยาณ์และทีมวิจัย มีผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ จำนวน 93 เรื่อง โดยผลงานวิจัยตีพิมพ์ได้รับการอ้างอิงมากกว่า 5325 ครั้ง มีค่า h-index เท่ากับ 35 (อ้างอิงจากฐานข้อมูล Scopus ตั้งแต่ปี 2542-2567) และได้รับการอ้างอิงสูงสุดในระดับต้น 2% ของโลก ผลงานวิจัยดังกล่าวได้ถูกประเมินผลกระทบต่อการนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล คิดเป็นมูลค่าผลประโยชน์มากกว่า 1000 ล้านบาท
ปัจจุบัน ดร.กัลยาณ์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการด้านการผลิตสัตว์น้ำและสุขภาพสัตว์น้ำของกรมประมง และทำงานในฐานะ adjunct staff ของภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในการผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโท-เอก นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกับองค์กรระดับภูมิภาค เช่น Network of Aquaculture Centres in Asia-Pacific (NACA) Fish Health Section of the Asian Fisheries Society (FHS-AFS) และระดับโลก เช่น Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAO) เพื่อผลักดันให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นอกจากความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยเฉพาะสาขา ทำให้ ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ประสบความสำเร็จในอาชีพแล้ว ดร.กัลยาณ์ ยังได้ใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยบริหารงานวิจัยด้านสัตว์น้ำให้กับองค์กร โดยใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมาวางแผนการวิจัยและเป็นพี่เลี้ยงให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่ในองค์กร ไม่เพียงเฉพาะสาขาเทคโนโลยีชีวภาพเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับและเป็นผู้นำในการบูรณาการงานวิจัยจากสาขาต่าง ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาให้กับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชน