สธ. - อว. ผนึกกำลังใช้นวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ หนุนระบบสาธารณสุข รุกสร้างนวัตกรรมแบรนด์ไทย ลดการนำเข้า พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพโลก
สธ. - อว. ผนึกกำลังใช้นวัตกรรมและบริการทางการแพทย์ หนุนระบบสาธารณสุข รุกสร้างนวัตกรรมแบรนด์ไทย ลดการนำเข้า พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพโลก
กรุงเทพฯ 16 สิงหาคม 2567 – กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมสนับสนุนและขับเคลื่อนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานและผลิตในประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ที่ได้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ รวมไปถึงการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ให้มีมาตรฐานและสามารถผลิตได้ในประเทศ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสื่อสารเชิงนโยบายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายจเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ที่ผลิตในประเทศ”
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาระบบการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Wellness & Medical Hub ซึ่งเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand ที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการทางการแพทย์ที่ครอบคลุมและมีคุณภาพสูง ช่วยลดภาระทางการเงินของภาครัฐและประชาชนในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐาน ช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พร้อมเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ของประเทศ ที่จะสร้างความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการที่ผลิตได้ภายในประเทศ รวมทั้งสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ตลอดจนสร้างงานและรายได้ให้กับคนไทย
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายมุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรม คือ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง มีการสนับสนุนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ระดับห้องปฏิบัติการ สู่ระดับอุตสาหกรรม รวมไปถึงการสนับสนุนระบบนิเวศ และโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ได้มาตรฐานในระดับสากล ที่ทางรัฐบาลมุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยนโยบาย IGNITE THAILAND โดยเฉพาะนโยบายการขับเคลื่อนและจุดพลังศักยภาพประเทศไทย สู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ ที่มีความเป็นเลิศและมีชื่อเสียงระดับโลก ด้วยการบริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐานสากล ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผล และบุคลากรทางการแพทย์มีความเชี่ยวชาญ โดยมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญ สู่การเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพอย่างยั่งยืนบนฐานทรัพยากรของประเทศ และสามารถสร้างผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกได้
ทางด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า การแพทย์และสุขภาพเป็นพื้นฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งของการพัฒนาประเทศ อีกทั้งวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (Sustainable Development Agenda 2030) ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเป้าหมายในการยกระดับสุขภาพของประชาชนไทย รวมถึงพัฒนาต่อยอดไปสู่ความเป็นเลิศในระดับสากลและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเป้าหมายในการเป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพดี 1 ใน 3 ของเอเชีย ที่ผ่านมา กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ กว่า 12000 ล้านบาท ภายใต้การบริหารของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และผ่านการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยบริหารและจัดการทุน สถาบันการศึกษาภาครัฐ-เอกชน และหน่วยรับงบประมาณนอกกระทรวง อว. เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชน โดยหวังให้มีผลกระทบที่เกิดจากงบประมาณวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพมากกว่างบที่ลงทุน ทั้งในมิติการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมิติสังคม ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เพื่อมุ่งยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก