วว./วช. จ.สระบุรี จับมือภาคีเครือข่าย Kick off โครงการพัฒนาต้นแบบจัดการวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตร ชุมชนเมือง เชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้ง เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

วว./วช. จ.สระบุรี จับมือภาคีเครือข่าย Kick off โครงการพัฒนาต้นแบบจัดการวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตร ชุมชนเมือง เชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้ง เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

   เมื่อ : 20 ส.ค. 2567

วันนี้ (20 ส.ค. 2567  ณ อาคารรวมใจ อ.เมือง จังหวัดสระบุรี)  กระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์   วิจัยและนวัตกรรม  (อว.)   โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) บูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดสระบุรีและหน่วยงานภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนเมืองสระบุรีคาร์บอนต่ำ (Saraburi Sandbox) ด้านการจัดการของเสีย จัดงาน Kick off  “โครงการการพัฒนาต้นแบบการจัดการวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมือง เชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้ง เพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดการและลดปริมาณของเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมและขยะชุมชนเมืองในพื้นที่นำร่องเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอน

โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก  นางสาวกาญจน์ชนิษฐา  เอกแสงศรี  ท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี  ในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน  ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ  วว.  กล่าวเปิด  Kick  off   โครงการฯ  นางสาวสุภาพรรณ   โทขัน  ผอ.กลุ่มงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก วช. กล่าวแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยโครงการ  ดร.สิริพร   พิทยโสภณ  นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน ผอ. สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)  กล่าวแนวทางนโยบายต่อการพัฒนาโครงการให้บรรลุตามนโยบายการขับเคลื่อนเมื่อสระบุรีคาร์บอนต่ำ ดร.ประทีป  วงศ์บัณฑิต  รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวรายงาน  และนายธีรรัตน์  จึงยิ่งเรืองรุ่ง  นายกเทศมนตรีเมืองสระบุรี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน  370  คน เข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ ครู นักเรียน ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม)  อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ผู้แทนกลุ่มคลัสเตอร์ และผู้แทนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

โดยมีวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้   1) เพื่อพัฒนาต้นแบบการจัดการและลดปริมาณของเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมและจากชุมชนเมืองในพื้นที่นำร่อง 2) เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากการจัดการของเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมและจากชุมชนเมืองในพื้นที่นำร่อง  3) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการจัดการขยะของเหลือทิ้ง และวิธีการคัดแยกของเหลือทิ้งให้กับประชาชนทั่วไปในพื้นที่นำร่อง  และ 4) เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชน ภาครัฐ ผู้ประกอบการ/ผู้ใช้ประโยชน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นำร่อง

ท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี   กล่าวว่า  จังหวัดสระบุรีมีหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 109แห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันของประเภทขยะ ทั้งขยะเมือง ขยะภาคการเกษตร และขยะอุตสาหกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่ ต้องมีความรู้ในแนวทางการจัดการขยะที่มีลักษณะแตกต่างกัน  โดยจังหวัดสระบุรีได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนเมืองสระบุรีคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย เพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนให้บรรลุผลครอบคลุมทุกด้าน ขอขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หน่วยงานในพื้นที่ที่มีส่วนสำคัญและมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการจัดการขยะของเหลือทิ้ง และวิธีการคัดแยกของเหลือทิ้ง ลดการปลดปล่อยคาร์บอนจากการจัดการของเหลือทิ้งทางเกษตรกรรมและจากชุมชนเมืองให้กับประชาชนทั่วไปในพื้นที่นำร่อง  เพื่อเป็นต้นแบบให้หน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ สามารถนำต้นแบบเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ต่อไป
ผู้ว่าการ วว.  กล่าวว่า  ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่  วว. จังหวัดสระบุรี เทศบาลเมืองสระบุรี สถาบันการศึกษา ชุมชน กลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้บูรณาการขับเคลื่อนให้เกิดการจัดการวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมือง ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และเรียนรู้ เชื่อมโยงสู่การใช้ประโยชน์ของวัสดุเหลือทิ้งเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในพื้นที่นำร่องจังหวัดสระบุรี เพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชนให้บรรลุผลครอบคลุมทุกด้าน ภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนเมืองสระบุรีคาร์บอนต่ำ (Saraburi Sandbox) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมือง  ก้าวไปสู่การเป็นชุมชนสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

กิจกรรมภายในงานมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและบรรยายถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญของ วว. ดังนี้ 1) การคัดแยกวัสดุรีไซเคิลเพื่อสร้างรายได้และระบบการรวบรวมวัสดุรีไซเคิล โดย ดร.เรวดี อนุวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญวิจัย วว. และคณะ 2) การผลิตน้ำหมักชีวภาพและสารปรับปรุงดินจากขยะอินทรีย์ โดย คณะทีมงานจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์  3) การผลิตผลิตภัณฑ์ถ่านมูลค่าเพิ่มจากชีวมวลและเปลือกผลไม้ โดย คณะทีมงานจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม  4) การผลิตจานรองแก้วจากเศษพลาสติก  โดย คณะทีมงานจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ
“ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อมโลกที่มีแนวโน้มปริมาณเพิ่มขึ้น อันเป็นเหตุจากการขยายตัวของเมืองและการจัดการของเสียที่ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ วว. จึงได้มีการจัดตั้ง ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนตาลเดี่ยวโมเดล ณ ตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่เป็นต้นแแบบการจัดการขยะชุมชนโดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการจัดการขยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.)  ในโครงการพัฒนาระบบนิเวศเมืองนวัตกรรม  Net  Zero  Emission  สระบุรีแซนด์บ็อกซ์   ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติ โดยการ Kick off  โครงการการพัฒนาต้นแบบการจัดการวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่การเกษตรและชุมชนเมืองฯ นั้น เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนดังกล่าว ” ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต   กล่าว
อนึ่ง ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีจัดการขยะชุมชนตาลเดี่ยวโมเดล ประกอบด้วย 1) ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ พร้อมระบบกำจัดกลิ่นขยะและระบบทำความสะอาดถุงพลาสติก 2) ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกคุณภาพสูง  และ 3) นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและการนำผลพลอยได้มาใช้ประโยชน์ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกับการผลิตสารปรับปรุงดินและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน นอกจากนี้โครงการตาลเดี่ยวโมเดลยังเป็นศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการจัดการขยะสู่ชุมชน ซึ่งโครงการนี้ได้ทำให้ชุมชนได้เรียนรู้การบริหารจัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถลดปริมาณขยะได้มากถึง 14600 ตันต่อปี และชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น นอกจากนี้ วว. ยังมีเทคโนโลยีการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มของเหลือทิ้งเป็นผลิตภัณฑ์และพลังงาน ที่สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา
โครงการนี้ได้ขยายพื้นที่การบริหารจัดการวัสดุเหลือทิ้งจากตำบลตาลเดี่ยว อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เช่น พื้นที่อื่นในจังหวัดสระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ ทั้งในพื้นที่การเกษตร และชุมชนเมือง สำหรับของเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ใบอ้อย ซังข้าวโพด เหง้าและใบมันสำปะหลัง เศษกิ่งไม้ และเปลือกผลไม้ เป็นต้น และของเหลือทิ้งจากชุมชนเมือง ได้แก่ ขยะอินทรีย์ ขยะรีไซเคิล และขยะทั่วไป โดยโครงการนี้ดำเนินการทำการสำรวจและคัดเลือกชุมชนที่มีความพร้อมการจัดการของเหลือทิ้งในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ซึ่งจะมีการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจและการรับรู้การบริหารจัดการของเหลือทิ้ง ศึกษาประเภทของวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร และภาคชุมชนเมืองในแต่ละพื้นที่ และหาวิธีการรวบรม การคัดแยก การแปรรูปเบื้องต้น ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ของเหลือทิ้ง โดยอาจมีการใช้เครื่องมือและสถานที่ ณ ตาลเดี่ยวโมเดล จังหวัดสระบุรี และศูนย์วิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา
นอกจากนี้ โครงการยังมีการอบรมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการจัดการของเหลือทิ้ง ส่งเสริมการคัดแยกของเหลือทิ้งที่ต้นทาง แนะนำให้ความรู้ในการจัดการของเหลือทิ้งให้เกิดประโยชน์เพิ่มมูลค่าที่มีความเหมาะสมกับบริบทของชุมชน และถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการของเหลือทิ้ง อีกทั้งยังมีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงประเมินการลดการปลดปล่อยคาร์บอนและการลดปริมาณของเหลือทิ้งจากการดำเนินการจัดการของเหลือทิ้งในพืื้นที่นำร่อง หากชุมชนในพื้นที่มีการจัดการของเหลือทิ้งอย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดการนำของเสียเหลือทิ้งกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ให้มากที่สุด ดังนั้นปริมาณขยะของเสียที่จะถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบหรือเผาทิ้งกลางแจ้งจะลดลง ส่งผลให้เกิดการลดลงของปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ