สกสว. - มทร.รัตนโกสินทร์ หารือทิศทางการบริหารการใช้ทุน ววน. ในมหา’ลัย รุกปั้นสถาบันเพื่อผลิตงานวิจัย พร้อมเปิดแผนดันงานวิจัยปี 69 มุ่งเป้า อุตฯ เป้าหมาย ความยั่งยืน งานศิลปะ และการพัฒนาเชิงพื้นที่

สกสว. - มทร.รัตนโกสินทร์ หารือทิศทางการบริหารการใช้ทุน ววน. ในมหา’ลัย รุกปั้นสถาบันเพื่อผลิตงานวิจัย พร้อมเปิดแผนดันงานวิจัยปี 69 มุ่งเป้า อุตฯ เป้าหมาย ความยั่งยืน งานศิลปะ และการพัฒนาเชิงพื้นที่

   เมื่อ : 27 ส.ค. 2567

กรุงเทพฯ 27 สิงหาคม 2567 - สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ร่วมหารือแนวทางการบริหารจัดการแผนงานและงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) และแลกเปลี่ยนปัญหา อุปสรรคของการบริหารจัดการโครงการในมหาวิทยาลัย โดยมี รศ. ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ พร้อมคณะผู้บริหาร และนักวิจัย ให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอการบริหารจัดการแผนงานและโครงการวิจัยภายใต้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณทุนสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) แก่ รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ และ ดร.ปิยะทัศน์ พาฬอนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผล เพื่อร่วมกันวางแนวทางการบริหารงานวิจัยที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้นักวิจัยสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผล

รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการหารือ และนำเสนอระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณทุนสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) ที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนา ววน. ให้มีความเข้มแข็ง สอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงานและตอบเป้าหมายของประเทศ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ โดยผลที่คาดว่าจะได้รับของแผนและการลงทุนด้าน ววน. ในปี 2570 ที่สำคัญคือ ประเทศไทยมีอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) ที่สูงขึ้น อยู่ใน 35 อันดับแรก และอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ที่สูงขึ้นอยู่ใน 35 อันดับแรก

นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 มีสาระสำคัญกำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐได้ โดยผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมต้องใช้ประโยชน์ บริหารจัดการ และรายงานผลการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่อผู้ให้ทุน สำหรับผู้ที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทน ทั้งนี้ จะช่วยยกระดับงานวิจัยและเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัยในการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ

ด้าน รศ. ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ระบุว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ มียุทธศาสตร์ตามนโยบาย RMUTR transformation ทั้ง 6ด้าน ดังนี้  1. พัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การสร้างสรรค์และการจัดการสู่สังคมการประกอบการ 2. ส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและงานสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ 3. บริการวิชาการ การจัดหารายได้มีชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพเพิ่มขึ้นจากการได้รับบริการจากมหาวิทยาลัย 4. ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมรักษาสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาไทย 5. ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการองค์กรเชิงธรรมาภิบาลและพัฒนาบุคลากรทุกระดับเพื่อเข้าสู่องค์กรคุณภาพตามเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน และ 6. พัฒนาขีดความสามารถของมหาวิทยาลัยเพื่อก้าวสู่สากล

ขณะที่ ผศ. ดร.บวรกิตติ์ เนคมานุรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงกรอบการวิจัยในปีงบประมาณ 2569 จะประกอบด้วย 2 แผนงานหลัก คือ 1. การวิจัยองค์ความรู้เพื่อสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้าและงานวิจัยขั้นพื้นฐาน และ 2.การวิจัยตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ อาทิ ทุนวิจัยสร้างสรรค์ผลงานศิลปากรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทุนวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ ทุนวิจัยด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนและเทคโนโลยีพลังงานสมัยใหม่ และทุนวิจัยเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ 
(S-CURVE) เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้มีการหารือแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการบริหารงาน รวมถึงปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณผ่านกองทุน ววน. และเยี่ยมชมการนำเสนอผลผลิตงานวิจัยที่ได้รับงบประมาณทุนสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) อาทิ โครงการพัฒนาระบบแก้วบิสมัทแกโดลิเนียมบอเรทสำหรับการประยุกต์เป็นวัสดุกำบังรังสี โครงการการศึกษาและออกแบบระบบควบคุมอุณหภูมิของโรงอบแห้งเรือนกระจกด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการการพัฒนากระบวนการขึ้นรูปโลหะแผ่นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และการบิน โครงการการสร้างแบรนด์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนฐานนิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่นในชุมชนเกาะลัดอีแท่น จังหวัดนครปฐม โครงการการศึกษาและรวบรวมข้อมูลทุนทางวัฒนธรรม ด้านงานศิลปะการช่างและศิลปหัตถกรรมเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อการจัดการองค์ความรู้และจัดทำสื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นต้น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและทำความเข้าใจการบริหารจัดการแผนงานและงบประมาณที่นำไปสู่การประเมินศักยภาพของหน่วยงาน

การเยี่ยมชม มทร.รัตนโกสินทร์ ในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีในการหารือ แลกเปลี่ยนการบริหารจัดการ รวมถึงปัญหา อุปสรรคในการดำเนินโครงการ เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้แนวทางการบริหารงานวิจัยที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ รวมถึงส่งสริมให้นักวิจัยสามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผล

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ