อว. นำทีม สกสว. - ศอ.บต. รวมพลังรัฐ – เอกชน ดึงงานวิจัยเด่นจากกลุ่มมหา’ลัย ลดขัดแย้ง สร้างสันติภาพ เสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

อว. นำทีม สกสว. - ศอ.บต. รวมพลังรัฐ – เอกชน ดึงงานวิจัยเด่นจากกลุ่มมหา’ลัย ลดขัดแย้ง สร้างสันติภาพ เสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

   เมื่อ : 29 ส.ค. 2567

กรุงเทพฯ 29 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตัวแทนจากทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการศึกษา ร่วมหารือ วิเคราะห์ความต้องการและโจทย์วิจัยจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในมิติด้านความเป็นอยู่ที่ดี มิติด้านความขัดแย้ง ความรุนแรง และสันติภาพ เพื่อใช้วางแนวทางการบูรณาการงานวิจัยของระบบ ววน. กับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมติดตามสถานะของผลการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในพื้นที่ เพื่อสร้างกระบวนการทำงานเชิงบูรณาการ และการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ชายแดนใต้ในทุกมิติ

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรากฏขึ้น ตั้งแต่ ปี 2547 เป็นต้นมา นับเป็นเวลา 20 ปี แล้ว แม้ว่าสถิติความรุนแรงทางกายภาพ -ทางการทหารจะลดลง แต่ความขัดแย้งดูจะยังไม่มีท่าทีจะคลี่คลาย อีกทั้งยังแสดงให้เห็นผลกระทบเชิงลึกที่เกี่ยวเนื่องจากปัญหาความขัดแย้ง เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ในส่วนนี้ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มอบหมายให้ประสานทุกหน่วยงานในสังกัด อว. ร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่และสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยรับฟังปัญหา ความต้องการและข้อเสนอแนะของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง เพื่อนำข้อมูลสำคัญไปใช้วางแผนขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป

โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณที่ใช้สนับสนุนงานวิจัยที่ตรงกับความต้องการ ให้ความรู้จากการวิจัยและการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นกลไกเชื่อมต่อการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพราะความสำเร็จและผลกระทบจากการวิจัยจะขยายผลด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ใช่แค่หน่วยงานในระบบ ววน. ดังนั้นการประชุมนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับฟังความเห็น ความต้องการและแนวทางการบูรณาการงานวิจัยเพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานวิจัยและการใช้ประโยชน์จากการวิจัย ประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ลดความรุนแรงและการสร้างสันติภาพ

“เพื่อให้การบูรณาการงานวิจัย และการขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์มีประสิทธิภาพ ทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ ในฐานะ กมธ. วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร จะนำแนวทางการบูรณาการฯ และผลงานวิจัยเด่นของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ อาทิ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของคนในพื้นที่ นำเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อร่วมสนับสนุนการทำงานให้ปัญหาชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นร่วม 20 ปี ถูกแก้ไขได้ดีขึ้น”

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงาน ที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในทุกด้าน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากการจัดทำแผนและกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ยังได้จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริหารจัดการทุน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) และหน่วยรับงบประมาณ เพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน หรือ ตามพันธกิจของหน่วยงาน (Fundamental Fund) ที่รวมถึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นต้น

ดังนั้น การเปิดรับฟังความคิดเห็น และ ข้อเสนอแนะด้านการจัดทำโจทย์วิจัย รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดร่วมกันเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้ สกสว.นำไปออกแบบการทำงานต่อ อีกทั้งประสานงานการทำงาน ทั้งหน่วยงานในระดับพื้นที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านการกำหนดนโยบาย รวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อส่งต่อผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ และการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ในทุกมิติ เพื่อสร้างกระบวนการทำงานเชิงบูรณาการการใช้ข้อมูลงานวิจัย และการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. แพร ศิริศักดิ์ ดำเกิง ประธานหน่วยบูรณาการประเด็นเชิงยุทธศาสตร์(Strategic Agenda Team : SAT) ด้านธรรมาภิบาล คอรัปชั่น และลดความรุนแรง สกสว. กล่าวว่า จากการสำรวจงานวิจัยในระบบ ววน. พบว่า งานวิจัยในประเด็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกือบทั้งหมดมีทิศทางที่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นเป็นหลัก (well-being) ทั้งงานวิจัย Fundamental Fund และ Strategic Fund ทั้งในด้านการแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การยกระดับผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาการท่องเที่ยวบนฐานอัตลักษณ์ เป็นต้น ขณะที่ในด้านการการแก้ไขปัญหาด้านความขัดแย้ง ความรุนแรง และการสร้างสันติภาพ พบว่ามีงานวิจัยน้อยมาก แม้ว่าแผนด้าน ววน. ปี 2566 – 2570 จะมีแผนงาน P14 (S2) พัฒนานโยบายและต้นแบบ เพื่อสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรงฯ แต่ก็พบว่ายังไม่มีงานวิจัยที่เจาะประเด็นความรุนแรงและความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรงมากนัก ทำให้งานวิจัยไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาอย่างเข้าใจพลวัต ความขัดแย้ง ความรุนแรงได้อย่างลึกซึ้ง และทันต่อสถานการณ์

คณะทำงานได้ทำการสำรวจความเห็นของผู้เข้าร่วมหารือว่าด้วยโจทย์งานวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ แบ่งเป็น โจทย์ด้านกระบวนการสันติภาพ เรื่องกฎหมายพิเศษ (การบังคับใช้กฎหมาย ยกเลิกกฎหมาย พิเศษ เขตปลอดทหาร อาวุธยาเสพติด การบังคับใช้กฎหมาย ความมั่นคง และต่อด้วยกฎหมายอื่น ๆ ที่ตามมาโดยไม่สุจริต เช่น พรบ.บุคคลที่ถูกกำหนด พรบ.ป้องกันการกระทำความผิดซํ้า) การศึกษาเพื่อสันติภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต (ความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา ความสำคัญของการศึกษาการทำงานวิจัยเรื่องความสามารถและศักยภาพของครู ทำอย่างไร ให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาภาคใต้พ้นจากลำดับท้ายของประเทศ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเยาวชน) การสร้างการรับรู้ และความเข้าใจ ต่อกระบวนการต่าง ๆ โจทย์ด้านการเมือง ความต้องการการปกครองรูปแบบพิเศษของคนปัตตานี (วิจัยเชิงลึก ”การปกครองตนเองภายใต้รัฐธรรมนูญ”) และรูปแบบการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โจทย์ด้านเศรษฐกิจ ทั้งในส่วนของการพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมการผลิตและส่งออก (AI กับการ วิเคราะห์ตลาด) พัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ (การมีงานทำ การพัฒนาทักษะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน เศรษฐกิจฐานรากสร้างมูลค่าเพิ่ม ทางวัฒนธรรม ระบบผูกขาดนายทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร) และ โจทย์ด้านการแพทย์ งานวิจัยคลินิก โดยนําทรัพยากรด้านสมุนไพรในพื้นที่มาผลิตเป็นยา เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอความคิดเห็นว่าด้วยความต้องการและโจทย์วิจัยอย่างหลากหลายโดยเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นประเด็น สันติภาพ (Peace) เช่น การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในกระบวนการสันติภาพ การเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา (Partnership) เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการ ผู้ประกอบการ และภาคนโยบาย ด้านผู้คนและสังคม (People) เช่น การพัฒนาคุณภาพแรงงานตลอด value chain ของเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่ด้านเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ และด้านสิ่งแวดล้อม (Planet) เช่น การบรรเทาผลกระทบภัยพิบัติ และการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ