อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ผนึกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ ASPA Annual Conference 2025 ครั้งที่ 28 ที่ประเทศไทย
อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ผนึกกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ ASPA Annual Conference 2025 ครั้งที่ 28 ที่ประเทศไทย
ผศ.ดร. วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย พร้อมผู้บริหารจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ ASPA Annual Conference 2024ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2567 ณ ประเทศมองโกเลีย ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Role and Impact of STPs for Regional Development” เพื่อแลกเปลี่ยนและแสวงหาโอกาสความร่วมมือระหว่างองค์กรในระดับภูมิภาคเอเชียที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายในงานมีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วม อาทิ คาซัคสถาน อิหร่าน ตุรกี จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นต้น พร้อมกันนี้ประเทศไทยรับมอบและประกาศความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงาน ASPA Annual Conference 2025 ครั้งที่ 28
ผศ.ดร. วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติ ASPA Annual Conference ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ และเป็นเกียรติอย่างมากที่ประเทศไทยได้รับมอบให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ASPA Annual Conference ครั้งที่ 28 ในปี 2025 โดยความร่วมมือของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคเหนือ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1 อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ ร่วมกับสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย (Thai-BISPA) และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB)
รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และมรดกที่โดดเด่น ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายและอาหารที่มีรสชาติ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญและส่งเสริมการวิจัย การพัฒนา และนวัตกรรมในฐานะตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ จากความสำคัญดังกล่าวกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้จัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยขึ้นเป็นอุทยานวิทยาศาสตร์แห่งแรกของประเทศ โดยเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ต่อมา ในปี 2554 อว. ได้เริ่มโครงการการพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 4 แห่ง 3ภูมิภาค เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และได้ขยายไปสู่อุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมากกว่า 44แห่งทั่วประเทศ และในปี พ.ศ. 2567 นี้ กระทรวง อว. มีแผนงานที่จะนำกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ4 ภาคเพื่อยกระดับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมายผ่านเทคโนโลยีเชิงลึก โครงการนี้จะเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจาก 4 ภาคส่วนที่สำคัญ ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุดมศึกษา และภาคประชาสังคม โดยใช้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจะเป็นศูนย์กลางสำคัญในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทั่วทุกภูมิภาค พร้อมได้เชิญชวนสมาชิก ASPA จากประเทศต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค โดยมุ่งเน้นใน 7 กลุ่มเทคโนโลยีหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์(Creative Digital Technology) ยานพาหนะทางอากาศไร้คนขับและเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ (UAV and Smart Electronics Technology) เทคโนโลยี AI และไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Digital AI Sensor and Microelectronics Technology) เทคโนโลยีพลังงานและชีวเคมี (Energy and Biochemical Technology (Biorefinery) เทคโนโลยีการสกัด (Extraction Technology) เทคโนโลยีพลาสมา (Plasma Technology) และ เทคโนโลยีโอลีโอเคมี (Oleochemical Technology)
ท้ายนี้ ผศ.ดร.วีรชัย กล่าวขอบคุณอุทยานเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (National Information Technology Park) และอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศมองโกเลีย (Science Park Administration of Mongolia) ที่จัดการประชุม ASPA Annual Conference 2024 ได้อย่างอบอุ่นและในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในปี 2025 ประเทศไทยยินดีให้การต้อนรับสมาชิก ASPA ทุกท่าน เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนการบริหารจัดการอุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในอนาคต