“นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูแบบครบวงจร” พลิกโฉมเกษตรกรไทยสู่การผลิตอาหารเศรษฐกิจแห่งอนาคต พร้อมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูแบบครบวงจร” พลิกโฉมเกษตรกรไทยสู่การผลิตอาหารเศรษฐกิจแห่งอนาคต พร้อมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

   เมื่อ : 6 ก.ย. 2567

โปรตีนจากแมลง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในอนาคต ซึ่ง “ด้วงสาคู” เป็นแมลงกินได้ที่กำลังได้รับความนิยมบริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และถือเป็นแมลงเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เนื่องจาก เพาะเลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องดูแลเอาใจใส่มาก ขนาดของตัวหนอนค่อนข้างโต มีน้ำหนักและปริมาณโปรตีนสูง สามารถใช้ได้ทุกสัดส่วน จึงขายได้ราคาดี  

แต่การเพาะเลี้ยงด้วงสาคูในปัจจุบัน เกษตรกรยังประสบปัญหาเรื่องการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยงฯ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตรวมถึงสภาพแวดล้อมและชุมชน เช่น ลำไส้ด้วงสาคูมีสีดำ เนื้อด้วงสาคูมีกลิ่นเหม็น ขณะเดียวกันเกษตรกรไม่สามารถผลิตด้วงสาคูได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยง ทำให้ขาดความต่อเนื่องในการแปรรูปด้วงสาคูในระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังพบว่าการเลี้ยงด้วงสาคูด้วยโรงเลี้ยงในปัจจุบัน ยังมีปัญหาเรื่องแมลงอื่นเข้ามารบกวน วางไข่และกินอาหารที่เน่าเสีย ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อรารวมถึงไร ซึ่งเป็นศัตรูของการเลี้ยงด้วงสาคู ทำให้ได้จำนวนผลผลิตที่ไม่แน่นอนในแต่ละรอบของการเพาะเลี้ยง และที่สำคัญยังเกิดการหลุดรอดของตัวเต็มวัยของด้วงสาคูซึ่งเป็น ศัตรูพืชของมะพร้าวและสาคู ก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะของเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงสาคูกับเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวและสาคู

จากปัญหาดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยแผนงานกลุ่มเกษตรและอาหาร ในโครงการ “นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ”

โดยมี “ผศ. ดร.ศศิธร หาสิน” จากวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นหัวหน้าโครงการฯ และผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางวัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อาจารย์ ดร.พีระเมศร์ โชติกวีกิจญาดา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นางสาวพัฐทกรณ์ มานุพีรพันธ์ จากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางวัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง จากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ นายวทัญญู บุญเสริมยศ จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.เจ. ซัลเลต

​ทั้งนี้จุดเริ่มต้นของโครงการฯ ผศ. ดร.ศศิธร บอกว่า เป็นการรับโจทย์มาจากผู้ประกอบการจำหน่ายและส่งออกด้วงสาคูไปต่างประเทศ รวมถึงได้รับคำแนะนำจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงด้วงสาคูโดยตรงที่ประสบปัญหาคุณภาพของผลผลิตด้วงสาคู ซึ่งมาจากการจัดการของเสียในระบบการเลี้ยง คณะวิจัยฯ จึงพัฒนา “โครงการนวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคูเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจผลิตภัณฑ์อาหารแมลงของประเทศ” ขึ้นโดยประกอบด้วยงานวิจัยย่อย คือ 1.การพัฒนาต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ 2.การพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอนด้วงสาคู และ 3. จัดทำต้นแบบผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินและก๊าซชีวภาพจากของเสียที่ได้จากระบบการเลี้ยง 

สำหรับ “ต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ” เป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงด้วงสาคู เพื่อลดปัญหาให้เกษตรกรและผู้ส่งออกทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสม การส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน การหลุดรอดของตัวเต็มวัยที่อาจไปก่อความเสียหายต่อผลผลิตของเกษตกรผู้ปลูกต้นสาคู และการเพิ่มความสะดวกสบายในการเพาะเลี้ยง โดยระบบได้มุ่งเน้นเรื่องการประหยัดน้ำ อาหาร และพื้นที่ในการเลี้ยง

ทีมวิจัยได้มีการออกแบบกล่องเลี้ยงหนอนด้วงสาคูที่ติดตั้งชุดกลไกอัตโนมัติ สำหรับการเคลื่อนย้ายกล่องเลี้ยง เพื่อเติมอาหารและเก็บเกี่ยวผลผลิตตัวหนอนเมื่อครบรอบการเลี้ยง รวมไปถึงชุดเติมอาหารและน้ำ ระบบชะล้างและระบายน้ำเสีย   และที่สำคัญคือชุดตรวจวัดระบบนิเวศ ซึ่งมีการติดตั้งเซนเซอร์ภายในกล่องเลี้ยงเพื่อวัดอุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณแก๊สต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเพาะเลี้ยง พร้อมระบบเก็บข้อมูลและติดตามผลแบบเรียลไทม์ ที่เชื่อมต่อกับเซนเซอร์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่มีการทำงานที่ปลอดภัยและควบคุมได้ง่าย

ส่วน การพัฒนาสูตรอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอนด้วงสาคู จะเน้นการศึกษาความหลากชนิดของพืชอาหารของตัวหนอนและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของหนอนมาใช้ในกระบวนการผลิตอาหารที่ใช้เลี้ยงหนอน ปัจจุบันพัฒนาแล้วใน  2 สูตรคือ สูตรตัวอ่อนด้วงสาคู และสูตรตัวเต็มวัย ขณะที่ต้นแบบผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินและก๊าซชีวภาพ จะเป็นผลพลอยได้จากระบบการจัดการของเสียจากการเลี้ยงด้วงสาคู ซึ่งมีการนำของเสียมาใช้ประโยชน์

“ผลการเลี้ยงด้วงสาคูในกล่องเลี้ยงระบบปิดที่พัฒนาขึ้น ซึ่งมีการออกแบบให้สามารถเลี้ยงด้วงสาคูให้ได้ผลผลิต 1 กิโลกรัมต่อกล่อง เบื้องต้นจากระบบการเลี้ยงบวกกับอาหารที่พัฒนาขึ้นทำให้ได้ผลผลิตด้วงสาคูประมาณ 1.1 กิโลกรัมต่อรอบการเลี้ยงเพียง 20 วัน จากเดิมที่เกษตรกรเลี้ยงในโรงเรือนต้องใช้เวลาถึง 35 วัน นอกจากนี้ตัวด้วงสาคูที่เลี้ยงด้วยอาหารที่พัฒนาขึ้นยังมีค่าโปรตีนสูงกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีการดั้งเดิมอีกด้วย”

ผศ. ดร.ศศิธร กล่าวอีกว่า นอกจาก 3 งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพข. แล้ว คณะผู้วิจัยเล็งเห็นประโยชน์ของด้วงสาคูที่มีปริมาณโปรตีนสูง แต่ผู้บริโภคอาจจะเกิดความกลัวในรูปลักษณ์ของด้วงสาคู จึงเกิดการต่อยอดผลผลิตด้วงสาคูที่ได้จากระบบการเลี้ยงที่พัฒนาขึ้น เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ในโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบอาหารจากแมลง “มีทบอลจากด้วงสาคู” และ “ไอศกรีมจากด้วงสาคู” เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของด้วงสาคูให้บริโภคได้ง่ายขึ้น  

ปัจจุบัน ต้นแบบระบบการเลี้ยงหนอนด้วงสาคูในโรงเรือนระบบกึ่งอัตโนมัติ อยู่ระหว่างการยื่นขอสิทธิบัตร และได้รับความสนใจจากภาคเอกชนในการทำสัญญาจองสิทธิ์ในการนำเทคโนโลยีการเลี้ยงไปใช้ประโยชน์ทางการค้าแล้ว ส่วนการพัฒนาสูตรอาหารสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงด้วงสาคู ซึ่งมีการดำเนินการร่วมกับ หจก. พี.เจ ซัลเลต ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ มีการทดลองใช้งานจริงในกลุ่มลูกฟาร์มของ หจก. พี.เจ ซัลเลต และอยู่ระหว่างการเตรียมยื่นขออนุญาต และขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์เพื่อจำหน่ายทางการค้าต่อไป

จากประโยชน์ของการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ที่ช่วยเพิ่มอัตราการผลิต ยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์จากด้วงสาคู ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ลดการใช้สารเคมีในการควบคุมแมลง ลดการปนเปื้อนสารพิษ และลดของเสีย แก้ปัญหาความขัดแย้งกับชุมชนจากปัญหากลิ่นเหม็นจากการเลี้ยง รวมถึงลดการหลุดรอดของด้วงสาคูตัวเต็มวัยที่เป็นศัตรูพืช ซึ่งเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงด้วงสาคูและผู้ปลูกต้นสาคูเพื่อจำหน่าย ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในอนาคตของประเทศได้อีกด้วย

อนาคต..คณะผู้วิจัยยังมีแผนที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้จากโครงการไปสู่เกษตรกรที่สนใจ และคาดหวังว่าการพัฒนา “นวัตกรรมการเลี้ยงด้วงสาคู” นี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านเศรษฐกิจ นโยบาย วิชาการ สังคมและสิ่งแวดล้อม ที่อาจจะมีผลกระทบต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพจากโปรตีนทางเลือกที่ผลิตจากแมลงของประเทศ.