1 ทศวรรษ เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า สดร. กระจายโอกาสการเรียนรู้สู่ 660 โรงเรียนทั่วประเทศ
1 ทศวรรษ เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า สดร. กระจายโอกาสการเรียนรู้สู่ 660 โรงเรียนทั่วประเทศ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผย 10 ปีแห่งความภูมิใจ ดาราศาสตร์แบ่งบานทั่วไทย “กระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ครบรอบ 1 ทศวรรษ” มอบกล้องโทรทรรศน์ไปแล้วกว่า 660 โรงเรียน ครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เกิดเครือข่ายดาราศาสตร์ สร้างครูแกนนำ ชมรม โครงงาน และกิจกรรมดาราศาสตร์ในชุมชนอย่างแพร่หลาย สร้างความตระหนักและความตื่นตัวด้านดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่สังคมไทย
ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ปีนี้ครบรอบ 10 ปีที่ สดร. ดำเนินโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ “77 จังหวัด เปิดฟ้าส่องโลกดาราศาสตร์ เปิดโอกาสเรียนรู้ทั่วหล้า” จากจุดเริ่มของโครงการตั้งใจมอบกล้องโทรทรรศน์ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ พร้อมฝึกอบรมการใช้งาน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 60 พรรษา ในปี 2558 จนถึงปัจจุบันในปี 2567 นี้ ได้คัดเลือกโรงเรียน เพื่อรับมอบกล้องโทรทรรศน์เพิ่มอีก 50 โรงเรียน รวมระยะเวลา 10 ปี มอบไปแล้วกว่า 660 แห่ง ครอบคลุม 77 จังหวัดของไทย
ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ประสบผลสำเร็จเกินคาด รู้สึกภูมิใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่โครงการนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนมีความตื่นตัวในการเรียน การสอนดาราศาสตร์ เกิดชุมนุมดาราศาสตร์ในโรงเรียน ขยายเป็นเครือข่ายจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ในชุมชน สิ่งสำคัญที่สุดคือ นักเรียนมีอุปกรณ์เครื่องมือสำหรับทำโครงงานที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ได้ ที่ผ่านมาได้สร้างครูแกนนำ จัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน และชุมชนมากกว่า 1000 คน เกิดกิจกรรมดาราศาสตร์รวมแล้วมากกว่า 10000 กิจกรรม จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจด้านดาราศาสตร์ให้กับครู นักเรียน ตลอดจนประชาชนชาวไทยอย่างแพร่หลายในวงกว้างแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ จะเกิดจุด สังเกตการณ์ดาราศาสตร์หลายร้อยจุดกระจายไปในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สดร. ยังต่อยอดขยายผลเกิดเป็นโครงการ “ท้องฟ้าจำลองเพื่อการเรียนรู้ระดับโรงเรียน” มอบชุดท้องฟ้าจำลอง DIY ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร ปัจจุบันมอบแล้วรวม 130 โรงเรียน ครอบคุมพื้นที่ 60 จังหวัด อีกหนึ่งโครงการที่จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะดำเนินการควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และหวังว่าทุกโรงเรียนที่ได้รับสื่อการเรียนรู้
ดาราศาสตร์เหล่านี้ จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อมอบโอกาสการเรียนรู้สู่เด็กและเยาวชนไทย กระจายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นายนรุตม์ชัย สุนทราน โรงเรียนชลประทานวิทยา จ. นนทบุรี กล่าวว่า โรงเรียนเพิ่งก่อตั้งชมรมดาราศาสตร์เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่มีกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ควรมีในชมรม จึงสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อขอรับกล้องโทรทรรศน์มาใช้ศึกษาดาราศาสตร์ และจัดกิจกรรมในโรงเรียน นอกจากนี้ ยังสนใจศึกษาเรื่องสภาพแสงที่มีผลต่อการดูดาวเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ชานเมืองและมีมลภาวะทางแสงค่อนข้างมาก การได้รับกล้องโทรทรรศน์จะทำให้ต่อยอดไปทำโครงงานเรื่องดังกล่าวได้ ขอขอบคุณโครงการของ สดร. ที่สนับสนุนการเรียนการสอนดาราศาสตร์เช่นนี้
นางสาววิภาวรรณ ปานเนาว์ โรงเรียนบ้านไผ่ จ. ขอนแก่น กล่าวว่า ตนเองได้เข้าร่วมโครงการของ สดร. โดยเริ่มจากโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นต้น ประสบการณ์ที่ได้รับนั้นทำให้อยากต่อยอดไปทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง จึงได้เข้าร่วมโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นกลางต่อ อย่างไรก็ตาม โรงเรียนยังไม่มีอุปกรณ์หรืออะไรที่เกี่ยวกับดาราศาสตร์มากนัก จึงพยายามจัดกิจกรรมในโรงเรียนมากขึ้น เช่น ค่ายดาราศาสตร์ จนกระทั่งได้รับกล้องโทรทรรศน์จาก สดร. ในโครงการครั้งนี้ หลังจากนี้จะนำไปจัดกิจกรรมในโรงเรียน เป็นสื่อการเรียนการสอน รวมถึงจะออกไปจัดกิจกรรมในชุมชนด้วย สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 10 ของโครงการแล้ว ขอแสดงความยินดีกับ สดร. ที่ทำโครงการดี ๆ มาจนถึงตอนนี้
นายอภิวัฒน์ จินตะ โรงเรียนบ้านบางแก้ว จ. พังงา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่จากนี้เด็ก ๆ ในโรงเรียนและชุมชนของตนจะได้มีโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ หลังจากตนได้ย้ายกลับไปอยู่โรงเรียนในภูมิลำเนาที่อำเภอกะปง เมื่อกลับไปจะนำกล้องโทรทรรศน์ไปจัดกิจกรรมให้นักเรียน และชุมชน รวมถึงประชาชนที่สนใจ เพื่อให้ได้เข้าถึงดาราศาสตร์กันมากขึ้น อยากให้มีโครงการดี ๆ แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยังมีครูวิทยาศาสตร์อีกจำนวนมากที่สนใจนำกล้องโทรทรรศน์ไปเป็นสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้กับนักเรียน
นางสาวกชพร คิดดี โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีฯ จ. ลำปาง กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการเข้าร่วมโครงการครั้งที่ 2 เนื่องจากได้ย้ายโรงเรียน สำหรับครั้งแรกที่รับมอบกล้องโทรทรรศน์จากโครงการได้นำกลับไปจัดกิจกรรมที่โรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และขยายไปสู่การจัดกิจกรรมในชุมชน รวมถึงโรงเรียนโดยรอบ ซึ่งรู้สึกว่าได้กระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ และส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง พอย้ายโรงเรียนจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง เพื่อนำกล้องโทรทรรศน์กลับไปจัดกิจกรรมในรูปแบบเดียวกัน เริ่มจากส่งเสริมให้นักเรียนสร้างชมรมดาราศาสตร์และจัดกิจกรรมในโรงเรียน จากนั้นออกไปสู่ชุมชน โดยจะร่วมกันกับโรงเรียนเครือข่ายดาราศาสตร์ใน จ. ลำปาง นอกจากนี้ ครั้งนี้ยังตั้งใจมาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำโครงงานดาราศาสตร์เพิ่มเติม นำไปต่อยอดด้านงานวิจัยในโรงเรียน ขอขอบคุณ สดร. ที่มอบโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้กับโรงเรียนทั่วประเทศมาตลอด 10 ปี เป็นโครงการที่ดีมากจริง ๆ
พิธีมอบกล้องโทรทรรศน์ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ พร้อมฝึกอบรมการใช้งาน โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 15 กันยายน 2567 ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และโรงแรมกรีนเลค รีสอร์ท จ. เชียงใหม่ มีครูเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 50 โรงเรียน จาก 33 จังหวัด กิจกรรมประกอบด้วยพิธีมอบกล้องโทรทรรศน์ อบรมการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับสังเกตการณ์ภาคกลางวัน ฝึกปฏิบัติการใช้งานกล้องโทรทรรศน์สำหรับสังเกตการณ์ในช่วงกลางคืน อบรมการใช้งานซอฟต์แวร์ทางดาราศาสตร์ ฝึกวางแผนการจัดกิจกรรมดูดาว เวิร์คช็อปโครงงานดาราศาสตร์เบื้องต้น นอกจากนี้ ในคืนวันเสาร์ที่ 14 กันยายน 2567 ยังตรงกับวันสังเกตการณ์ดวงจันทร์สากล (International Observe the MOON Night) ซึ่งเป็นแคมเปญของ NASA ที่เชิญชวนทั่วโลกร่วมชมดวงจันทร์พร้อมกัน ครูทุกคนจึงได้ร่วมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดวงจันทร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ที่เพิ่งรับมอบ ให้กับประชาชนผู้มาร่วมชมดวงจันทร์ ณ หอดูดาว อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร
สำหรับกล้องโทรทรรศน์ในโครงการฯ เป็นกล้องโทรทรรศน์ชนิดดอปโซเนียน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว สดร. ร่วมกับบริษัทผู้ผลิตคนไทย ออกแบบ สร้างและพัฒนา จนได้กล้องโทรทรรศน์ฝีมือคนไทยต้นทุนต่ำแต่คุณภาพสูง ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับการใช้งานในโรงเรียน สามารถสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ รวมถึงวัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึก เช่น กาแล็กซี เนบิวลา กระจุกดาว เป็นต้น มีอุปกรณ์เสริม อาทิ ชุดเลนส์ใกล้ตา อุปกรณ์เพิ่มกำลังขยายพิเศษ และสามารถนำกล้องถ่ายภาพดิจิทัลมาเชื่อมต่อเพื่อบันทึกภาพวัตถุท้องฟ้าต่าง ๆ ได้ ใช้เก็บข้อมูลทำโครงงาน จัดกิจกรรม และเป็นสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ได้ นอกจากนี้ กรณีเสีย หรือชำรุด สดร. ยินดีซ่อมให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยมุ่งหวังให้ครูและนักเรียนนำไปใช้จริงให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในโรงเรียนและชุมชน