สวทช. เปิดตัวฐานข้อมูล CO2 CE SDGs เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

สวทช. เปิดตัวฐานข้อมูล CO2 CE SDGs เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

   เมื่อ : 20 ก.ย. 2567

(20 กันยายน 2567) ที่ห้องแถลงข่าว กระทรวง อว. ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.): สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จัดกิจกรรม NSTDA Meets the Press นักวิจัยพบปะสื่อมวลชน เพื่อสัมภาษณ์พูดคุยในหัวข้อ ”ชวนรู้จัก ฐานข้อมูลด้าน CO2 CE SDGs เพื่อการค้าและความยั่งยืน นำประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ” โดยมี ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อานวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เอ็มเทค สวทช. ดร.เอนกประชา แก้วมณี ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจโรงกลั่น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ นายวิชัย รายรัตน์ Sustainable Development Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ร่วมให้สัมภาษณ์พูดคุย เพื่อให้เห็นความสำคัญของฐานข้อมูล CO2 CE SDGs : กุญแจสำคัญสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เอ็มเทค สวทช. และพันธมิตรภาคเอกชน ซึ่งสถาบัน TIIS ถือเป็นหน่วยงานที่ให้บริการครบวงจร (One stop Service) ด้านข้อมูลและสารสนเทศเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การค้าและความยั่งยืน ตลอดจนเพื่อให้สาธารณชนภาคส่วนต่าง ๆ เข้าใจบทบาทสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ

ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า สวทช. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเชื่อว่าการใช้ข้อมูลที่แม่นยำและครอบคลุมจะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมทั้งเปิดเผยถึงความก้าวหน้าล่าสุดของฐานข้อมูล CO2 CE SDGs ว่า สถาบัน TIIS ได้พัฒนาชุดข้อมูลค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor: EF) ที่ครอบคลุม 22 กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับการออกแบบและรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ ดัชนีการหมุนเวียนวัสดุ (Material Circularity Index MCI) ในผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 12 ประเภทของอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อสนับสนุนการประเมินและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ฐานข้อมูลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน BCG Economy และการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เกิดการใช้วัตถุดิบรอบสอง ส่งเสริมโมเดลธุรกิจหมุนเวียน รวมทั้งลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตลอดจนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“ดังตัวอย่างกรณีของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้นำค่า EF จากฐานข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงจำนวน 5 ชนิด จนได้รับการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ในปี 2556 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีค่าการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต่ำกว่ามาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ได้นำดัชนี MCI มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำวัสดุหมุนเวียนมาใช้ทดแทน โดยยังคงไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐานของ เอสซีจี”

ฉลากคาร์บอน (CO2) เปิดทางให้สินค้าไทยก้าวสู่ตลาดโลก

ฉลากคาร์บอนมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในตลาดโลก ดร.นงนุช ได้อธิบายว่า “ฉลากคาร์บอน” เป็นเครื่องมือสำคัญที่แสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน ไปจนถึงการจัดการของเสีย ฉลากคาร์บอนไม่เพียงช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว สถาบัน TIIS ได้จัดทำชุดข้อมูลค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่พร้อมให้บริการ ประกอบด้วยค่ากลางจาก 22 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญของประเทศ โดยได้แปลงค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในหน่วย ”กิโลกรัมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” หรือ ”kgCO2eq.” ทั้งนี้ค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบและรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมสำหรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดร.เอนกประชา แก้วมณี ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจโรงกลั่น บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แบ่งปันประสบการณ์ของบริษัท ว่า ”บางจากฯ ตระหนักถึงประเด็นเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการตอบสนองประเด็นนี้ บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2030 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี 2050 โดยผ่านแผนงาน BCP 316 NET ครอบคลุมการดำเนินงาน 4 แนวทาง ได้แก่ Breakthrough Performance (30%)  Conserving Nature and Society (10%)Proactive Business Growth and Transition (60%) และ Net Zero Ecosystem ตัวอย่างเช่น โรงกลั่นพระโขนง มีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงานในการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเพื่อจะสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ ทั้งนี้การประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) นั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้บริษัทฯ สามารถวิเคราะห์ถึง hotspot ที่มีการใช้พลังงานมากและนำไปพัฒนาในการลดการใช้พลังงานต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ขอการรับรองฉลากคาร์บอนทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์ได้แก่ 1. น้ำมันเตา (Fuel Oil) 2. ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas (LPG)) 3. น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (High Speed Diesel) 4. น้ำมันแก๊สโซลีนพื้นฐาน (Gasoline based) 5. น้ำมันก๊าดหรือน้ำมันเครื่องบิน (Illuminating or Industrial Kerosene (IK)) มีค่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภายในและภายนอกประเทศ  

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำส่งผลช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกในปัจจุบัน เนื่องจากในปัจจุบันในหลายประเทศเริ่มมีการนำคาร์บอนฟุตพรินต์มาใช้กันแล้วอย่างเช่นใน อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นต้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือสหภาพยุโรปได้กำหนดมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนหรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) เป็นกลไกการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง เช่น ซีเมนต์ ปุ๋ย เหล็ก อะลูมิเนียม ไฮโดรเจนและไฟฟ้า ซึ่งจะเก็บค่าธรรมเนียมหากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยเกินกว่าข้อกำหนด ดังนั้นการเลือกใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนต่ำตั้งแต่ต้นทาง จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการของประเทศไทย”

สำหรับมุมมองและแนวทางการพัฒนาการใช้ฉลากคาร์บอนในอนาคต ดร.นงนุช มองว่า ”ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนในการส่งเสริมการใช้ฉลากคาร์บอนอย่างแพร่หลายมากขึ้นในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ด้าน ดร.เอนกประชา กล่าวเสริมว่า”ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาข้อมูลและแนวทางการขอรับฉลากคาร์บอน เพื่อนำไปปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง และร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

MCI ดัชนีสำคัญ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จำกัด สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

ดร.นงนุช ได้อธิบายว่า  “ค่าประสิทธิภาพหมุนเวียนของวัสดุก่อสร้าง (Material Circularity Indicator: MCI) หรือที่เรียกว่า ดัชนี MCI” คือ ตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงระดับการหมุนเวียนของวัสดุในผลิตภัณฑ์หนึ่ง ๆ โดยเปรียบเทียบกับวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การผลิต การใช้งาน จนถึงการจัดการของเสีย หากผลิตภัณฑ์ใดมีค่า MCI สูง แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าวสถาบัน TIIS ได้จัดทำข้อมูล MCI ของวัสดุก่อสร้าง 12 ประเภท ได้แก่ คอนกรีตผสมเสร็จ ปูนซีเมนต์สำเร็จรูป ประตููและหน้าต่าง อิฐ กระเบื้องปูพื้น วัสดุปิดผนัง สุขภัณฑ์ ท่อประปา ฝ้าเพดาน หลังคา และฉนวนกันความร้อน โดยร่วมกับผู้ประกอบการในการปรับปรุงข้อมูล MCI ของวัสดุทุกชนิดให้เป็นปัจจุบันตลอดทุกปี (เปิดรับข้อมูลจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรม) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แสดงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงค่าความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของวัสดุก่อสร้างที่มีการใช้งานในประเทศไทย”

นายวิชัย รายรัตน์ Sustainable Development Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ได้แบ่งปันประสบการณ์ในการนำดัชนี MCI มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตของบริษัท ว่า “SCG ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งการปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ทดแทนถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ การลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และรวมถึงการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป(Nonrenewable resources) โดยนำวัสดุหมุนเวียนมาใช้ทดแทน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เอสซีจีใช้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักควบคู่กับการมุ่งไปสู่ Net Zero            

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจีได้มีการตั้งเป้าหมายให้แต่ละธุรกิจต้องมีการนำวัสดุทดแทนมาใช้ โดยตั้งเป้าหมายในปี 2030 ให้มีการนำวัสดุหมุนเวียนมาใช้ทดแทนวัตถุดิบธรรมชาติให้ได้ 10% ซึ่งในปี 2023 เอสซีจีสามารถใช้วัสดุหมุนเวียนได้ 6.64% ซึ่งแนวทางสำคัญคือการนำวัสดุที่เป็นของเสียที่ไม่เป็นอันตรายทั้งจากภายในและภายนอกเอสซีจีหรือสินค้าที่หมดอายุการใช้งาน กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน ในสัดส่วนที่สินค้ายังได้คุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพัฒนาวิจัยที่จะนำวัสดุธรรมชาติที่สามารถทดแทนใหม่ได้ (Renewable resources) มาทดแทนเพิ่มเติมอีกด้วย โดยใช้ดัชนี MCI มาเป็นเครื่องมือในการประเมินประสิทธิผลของการหมุนเวียนวัสดุทดแทนของสินค้าแต่ละประเภท เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่า MCI สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ปูนเอสซีจี คาร์บอนต่ำ มีการนำเถ้าลอย (Fly ash) มาทดแทนหินปูน และใช้ยิปซั่มสังเคราะห์มาทดแทนแร่ยิปซั่มธรรมชาติ”

นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ฉนวนกันความร้อน เอสซีจี ผลิตจากแก้วรีไซเคิล100% และ ฝ้าสมาร์ทบอร์ด เอสซีจี ใช้เส้นใยเซลลูโลส ทดแทนแร่ใยหิน ซึ่งนอกจากจะทดแทนวัตถุดิบธรรมชาติแล้วยังปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ใช้งานอีกด้วย”

นายวิชัยกล่าวต่อว่า “ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำดัชนี MCI มาใช้ เป็นข้อมูลในการประเมินประสิทธิผลการหมุนเวียนวัสดุของสินค้าวัสดุก่อสร้างของเอสซีจีแต่ละประเภท ทำให้กรอบการดำเนินงานด้านเศรษกิจหมุนเวียนของเอสซีจีมีความชัดเจนมากขึ้น และอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญในการวัดค่าดัชนี MCI คือการหมุนเวียนสินค้าที่หมดอายุการใช้งานหรือเป็นของเสียในระหว่างติดตั้งให้มีการนำกลับมาสู่ระบบการหมุนเวียน ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เอสซีจีให้ความสำคัญและดำเนินการ เช่น การนำเศษคอนกรีตจากการก่อสร้างหรือทุบทำลายมาย่อยและนำกลับมาใช้ทดแทนหินปูนในการทำคอนกรีต การนำโถสุขภัณฑ์ที่ไม่ใช้แล้วซึ่งทำงานร่วมกันกับโฮมโปร นำมาย่อยและนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนดินในการทำกระเบื้อง การนำเศษอิฐมวลเบาหรือเศษกระเบื้องหลังคาคอนกรีต มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หรือนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงาน เป็นต้น”

ด้าน ดร.นงนุช กล่าวย้ำถึงความสำคัญของการใช้ฐานข้อมูลในการพัฒนากระบวนการผลิต ว่า “ฐานข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับดัชนี MCI จะช่วยให้นักวิจัยและภาคธุรกิจสามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลการดำเนินงานได้อย่างแม่นยำ และนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ดีการพัฒนาฐานข้อมูล CO2 CE SDGs โดย สวทช. และพันธมิตร เป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ผ่านการใช้ฉลากคาร์บอนและดัชนี MCI ซึ่งไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและสร้างโอกาสทางการค้า การดำเนินงานนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ สวทช. ในการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมผ่านนวัตกรรมและความร่วมมือ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน