สกสว. สภาพัฒน์ฯ ผู้ว่าฯ ลำปาง ระดมความร่วมมือขับเคลื่อนแผนศก.จังหวัดพุ่งเป้าลดปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า สังคมสูงวัย พร้อมถกการไปต่ออุตฯเซรามิก ด้วยวิทย์ วิจัยและนวัตกรรม ตอกย้ำลำปาง “เมืองแห่งความสุข”
สกสว. สภาพัฒน์ฯ ผู้ว่าฯ ลำปาง ระดมความร่วมมือขับเคลื่อนแผนศก.จังหวัดพุ่งเป้าลดปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า สังคมสูงวัย พร้อมถกการไปต่ออุตฯเซรามิก ด้วยวิทย์ วิจัยและนวัตกรรม ตอกย้ำลำปาง “เมืองแห่งความสุข”
กรุงเทพฯ 25 กันยายน 2567 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เพื่อประชุมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบแนวทางการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ซึ่งจังหวัดลำปาง เป็นหนึ่งใน 5 จังหวัดนำร่องที่จะดำเนินการในปี 2567 โดยจะดำเนินการขับเคลื่อนผ่าน 3 ประเด็นหลัก คือ การแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสูงวัย และการปรับตัวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมเซรามิกสร้างสรรค์
นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ระบุว่า จังหวัดลำปางได้กำหนดนโยบายให้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดลำปาง เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำหนดทิศทาง แนวทางการดำเนินการในการพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนปฏิรูปประเทศ นโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน และการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ครอบคลุมการพัฒนาในทุกมิติ เน้นการบูรณาการวิเคราะห์ความพร้อมและทิศทางในอนาคต ความเชื่อมโยงในทุกระดับตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงในระดับชาติ และความต้องการของพื้นที่ครอบคลุม 13 อำเภอ
“โดยทาง จ.ลำปาง มีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัดภายใต้วิสัยทัศน์ ลำปาง เมืองแห่งความสุข 2 มิติ Livable & Smart City ด้วยการผสมผสานมนต์เสน่ห์แห่งความเป็นเมืองเก่า ย้อนยุคทางประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 1300 ปี เชื่อมโยงไปสู่มิติเมืองใหม่อย่างลงตัว เป็นเมืองอัจฉริยะ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการและการบริหารจัดการเมือง นำไปสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาให้มีความก้าวหน้าจะเป็นส่วนสำคัญของ จ.ลำปาง พร้อมทั้งขอบคุณสภาพัฒน์ฯ และ สกสว. ที่เข้ามาช่วยใน 3 ประเด็นสำคัญนี้ เพราะหากเราสามารถพัฒนาคนของเราที่มีภูมิปัญญาอยู่แล้ว และส่งเสริมศักยภาพเรื่องการใช้เทคโนโลยีเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้เราสามารถอยู่รอดได้”
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. กับ สศช. ได้มีการลงนามความร่วมมือ ภายใต้กรอบแผนงานความร่วมมือ พ.ศ. 2567 – 2570 ระยะ 4 ปี ที่มุ่งส่งเสริมให้การขับเคลื่อนแผนฯ 13 ด้วย ววน.ให้เกิดขึ้นได้จริง ด้วยการทำหน้าที่เป็นช่างเชื่อมเพื่อหนุนเสริมพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม 1. เชื่อมโยงองค์ความรู้ ววน. เพื่อวิเคราะห์และออกแบบโมเดลการขับเคลื่อน 2. เชื่อมโยงภาคีการพัฒนาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ตำบล3. เชื่อมโยงสู่นโยบายและยุทธศาสตร์ระดับประเทศ และ 4. เชื่อมโยงตำบลต้นแบบ ผ่านระบบแสดงผลการขับเคลื่อนแผนฯ 13 ระดับพื้นที่และตำบล เพื่อหนุนเสริมพื้นที่ นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ 1. ลำปาง 3 ประเด็นสำคัญ 2. สระบุรี 3. สตูล 4. บึงกาฬ และ 5. พื้นที่ EEC ที่จะดำเนินการในปี 2567 ด้วยการนำข้อมูลการสังเคราะห์ผลงาน ววน. มาใช้ในการแก้ปัญหา ยกระดับการพัฒนาตามโจทย์ประเด็นการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย ให้สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและพัฒนากลไกสำหรับกำหนดทิศทางขับเคลื่อนนโยบาย แผนพัฒนาประเทศ นำไปสู่การถอดบทเรียนการขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
“สกสว. ตั้งใจเป็นหน่วยหนุนเสริมด้วยการนำ ววน. มาใช้ในการขับเคลื่อน เพื่อให้ส่วนราชการทำหน้าที่ตามบทบาทได้ดีขึ้น ถ้าเรามองเป้าหมายของจังหวัดอีกแบบ และเป้าหมายของส่วนงานอีกแบบหนึ่ง อาจทำให้เกิดการ ปรับรูปแบบการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ได้ชุดความรู้การขับเคลื่อนงานระหว่างภาคส่วนราชการและส่วนวิชาการ เป็นบทเรียนที่อาจนำไปสู่การออกแบบของ สศช. และสำนักงบประมาณได้ต่อไป”
ขณะที่ นางสาวปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ ผู้อำนวยการกองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สศช. กล่าวถึง แนวทางการขับเคลื่อนแผนในพื้นที่ ผ่าน 3 กลไกสำคัญ ประกอบด้วย 1. กลไกเชิงยุทธศาสตร์ 2. กลไกตามภารกิจ และ 3. กลไกระดับพื้นที่ ที่จะเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันให้ตรงตามความต้องการของศักยภาพพื้นที่ โดยมุ่งหวังให้การขับเคลื่อนเห็นผลในระดับตำบล ที่มีประเด็นปัญหา/ความต้องการที่สอดคล้องกับแผนฯ 13 และแผนด้าน ววน. มีกลไกในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการร่วมขับเคลื่อน และมีผลงาน ววน. ที่สามารถเชื่อมโยงต่อยอดใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนได้ ซึ่ง จ.ลำปาง เป็นหนึ่งในบริบทของพื้นที่นำร่อง ที่ได้มีการเลือกประเด็นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากส่วนต่าง ๆ นำมาสู่ 3 ประเด็นขับเคลื่อนด้วย ววน. ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) และสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ที่มีบทบาทในการสนับสนุนองค์ความรู้ รับผิดชอบ กำกับดูแล และเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายร่วมดำเนินการระหว่าง ชุมชน เอกชน/สถานประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ซึ่งทาง สศช. ตั้งใจขับเคลื่อน จ.ลำปาง แบบไร้รอยต่อ
ทั้งนี้ ความร่วมมือระยะ 4 ปี ระหว่าง สศช. และ สกสว. พ.ศ. 2567 – 2570 เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และจุดประกายการมีส่วนร่วมของหน่วยงานต่าง ๆ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ทุกภาคส่วนสามารถร่วมเป็นพลังของการขับเคลื่อนประเทศ ที่จะนำไปสู่การพลิกโฉมประเทศไทยได้