TMEC สวทช. พลิกโฉม สู่การเข้าถึงเทคโนโลยี ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย
TMEC สวทช. พลิกโฉม สู่การเข้าถึงเทคโนโลยี ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย
(30 กันยายน 2567) ณ ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Thai Microelectronics Center: TMEC) อ.วังตะเคียน อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรม NSTDA Meets The Press นักวิจัยพบปะสื่อมวลชน เพื่อสัมภาษณ์พูดคุยในหัวข้อ “TMEC พลิกโฉม สู่การเข้าถึงเทคโนโลยี ‘เซมิคอนดักเตอร์’ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในไทย”ทั้งนี้ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ หรือ TMEC ถือเป็นพันธมิตรด้านเซมิคอนดักเตอร์ (TMEC MEMS Foundry) แห่งแรกของไทย ที่มีส่วนขับเคลื่อนนวัตกรรมจากความเชี่ยวชาญของนักวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมไทย โดยให้บริการพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ MEMS ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การสร้างต้นแบบ การทดสอบ ไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ และถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศ ที่มีบทบาทในการเสริมสร้างกำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต
• ชูจุดแข็ง วิจัยพัฒนาและผลิต แบบ ‘Make to Order’
ดร.วุฒินันท์ เจียมศักดิ์ศิริ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สวทช. กล่าวว่า TMEC เป็นโรงงานที่รองรับการผลิตเวเฟอร์ MEMS ทั้งในระดับต้นแบบ จนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยบริการให้คำปรึกษาตั้งแต่แนวคิดเริ่มต้นในการพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ MEMS ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของลูกค้า เพื่อดำเนินการออกแบบโครงสร้าง วัสดุ จำลองการทำงานก่อนสร้างจริง และปรับปรุงดีไซน์ให้เหมาะสมกับสายการผลิต อีกทั้งมีความสามารถทำการผลิตเวเฟอร์ MEMS ด้วยมาตรฐานการผลิตในระดับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การทดสอบคุณสมบัติทางไฟฟ้าต่าง ๆ ของเวเฟอร์ MEMS ที่ผลิตได้ 100% อย่างไรก็ดีลูกค้าของ TMEC ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศที่ต้องการให้พัฒนาระบบอัจฉริยะในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การพัฒนาไมโครโฟนขนาดเล็กที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดี ไม่มีเสียงรบกวน หรือเซนเซอร์แบบไจโรสโคปที่สามารถตรวจจับการเอียงหรือการหมุนของอุปกรณ์ เช่น สมาร์ทโฟน โดรน หรือสมาร์ทวอทช์ ซึ่งสินค้าประเภทนี้ต้องการเทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาและผลิต
“TMEC มีจุดแข็ง คือทำวิจัยที่มาจากความต้องการของลูกค้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่มีใครทำ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ลูกค้าเลือก TMEC เพราะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าทีมวิจัยต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ลูกค้าส่วนมากที่มาติดต่อ TMEC จึงต้องการให้พัฒนาผลิตภัณฑ์และทำการผลิตให้ด้วย เมื่อเทียบกับหน่วยงานวิจัยอื่น ๆ ที่ลูกค้าอาจเคยติดต่อ ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือต่างประเทศ หน่วยงานวิจัยเหล่านั้นมักทำวิจัยเพื่อ Paper นวัตกรรม หรือจดสิทธิบัตร แต่ไม่พร้อมที่จะทำการผลิตในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่เน้นการผลิตจำนวนมาก (Mass production) โดยไม่มุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งทำให้ลูกค้ามีปัญหาในการหาผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม”
ดร.วุฒินันท์ กล่าวต่อว่า ในทางตรงกันข้าม TMEC อยู่ในตำแหน่งที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้จากการวิจัย และพร้อมที่จะผลิตสินค้าให้กับลูกค้าได้จริง ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ TMEC แตกต่างจากหน่วยงานวิจัยและโรงงานผลิตทั่วไปในหลายประเทศ ลูกค้าจากอเมริกา ยุโรป จีน และเกาหลีต่างเลือก TMEC เพราะเป็นศูนย์วิจัยที่ไม่เพียงแค่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ แต่ยังสามารถผลิตได้จริง เนื่องจากเห็นความต้องการของลูกค้าที่ต้องการความสามารถเฉพาะทางจาก TMEC อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า TMEC มีจุดแข็งในตลาดที่ไม่มีใครเหมือน เพราะหลายบริษัทยังเลือกวิธีการผลิตจำนวนมาก และไม่ต้องมาหาลูกค้าใหม่ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งวิธีนี้อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้นการที่ TMEC สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อขายในตลาดต่างประเทศได้จะช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมไทย และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย ที่สามารถสร้างนวัตกรรมและรายได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ในขณะเดียวกันยังช่วยให้ประเทศสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกัน
• Transfer ความรู้สร้างบุคลากร ป้อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ดร.วุฒินันท์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ TMEC ยังช่วยสนับสนุนการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยได้ทำงานร่วมกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่านกลไก Higher Education Sandbox เพื่อพัฒนาวิศวกร (Engineer) ที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์(Semiconductor industry) ทั้งนี้ไม่ใช่แค่ในส่วนของเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น การทำงานที่ผ่านมาของ TMEC ยังรวมไปถึงการออกแบบวงจร IC และ PCB (Printed Circuit Board) ในการใช้งานทั้งระบบนิเวศของอุตสาหกรรมนี้ ตั้งแต่การผลิตชิป งานออกแบบ และระบบการผลิต PCB โดยครอบคลุมถึงการพัฒนาหลักสูตรและการฝึกอบรมบุคลากรในสาขานี้ ซึ่งตัวเลขการพัฒนาบุคลากรที่กระทรวง อว. คาดว่าจะมีถึง 80000 คน ครอบคลุมทั้งระบบนิเวศ โดยจำนวนมากสุด อยู่ในกลุ่ม PCB ในส่วนของการประกอบ (PCBA) รองลงมาคือ Chip Packaging และ Semiconductor ตามลำดับ รวมถึงการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ประเทศไทยและสถาบันไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางด้านแผ่นวงจรพิมพ์และการออกแบบวงจรรวมตามลำดับโดยการสนับสนุนจาก บพข. สกสว. และสำนักงานปลัดกระทรวง อว.
“สำหรับประเด็นการลงทุนทางด้านอุตสาหกรรม Semiconductorในประเทศไทย ที่จะมีโรงงานใหม่เปิดอย่างเป็นทางการ จากความร่วมมือของ บริษัท ฮานาไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ และกลุ่ม ปตท. ได้ร่วมทุนสร้าง บริษัท เอฟทีวัน คอร์เปอเรชั่น จำกัด (FT1 Corporation Limited) เพื่อผลิตชิปต้นน้ำ (Wafer Fabrication) แห่งแรกของประเทศโดยคาดว่าจะสร้างเสร็จในไตรมาสแรก ของปี 2570 นั้น
“TMEC สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้กับ FT1 หรือบริษัท ใดๆ ที่วางแผนการลงทุนทางด้านนี้ เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีใครทำงานด้านนี้มากนัก และในปัจจุบัน TMEC ถือเป็นหน่วยงานที่มีบุคลากรด้านนี้มากที่สุดของประเทศ โดยประมาณ 50 คน อีกทั้งยังเป็นที่เดียวที่มีกระบวนการผลิตเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) ที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศและเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้การพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ และไม่ต้องพึ่งพาบุคลากรจากต่างชาติจำนวนมาก ในช่วงเริ่มต้น ดังนั้นการมี TMEC มาสนับสนุนการรับและถ่ายทอดความรู้ทางด้านกระบวนการผลิตของเซมิคอนดักเตอร์จะลดความยากลำบากในการสร้างและพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้เฉพาะด้านนี้แก่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องภาษาและความรู้เชิงเทคนิค เป็นต้น”
นอกจากนี้ TMEC ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคคลากรในระดับปริญญาตรี โท และเอก เพื่อให้บุคลากรมีความพร้อมในการทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งในด้านวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยการนำโครงการที่ TMEC ต้องดำเนินการมาทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาบุคลากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม