รมว.ศุภมาสขับเคลื่อน ”อว. for AI” ให้กรมวิทย์ฯ บริการเร่งพัฒนากำลังคนและระบบห้องปฏิบัติการอ้างอิงดิจิทัลยกระดับไทยติด 1 ใน 10 ของโลกและนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน

รมว.ศุภมาสขับเคลื่อน ”อว. for AI” ให้กรมวิทย์ฯ บริการเร่งพัฒนากำลังคนและระบบห้องปฏิบัติการอ้างอิงดิจิทัลยกระดับไทยติด 1 ใน 10 ของโลกและนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน

   เมื่อ : 7 ต.ค. 2567

7 ตุลาคม 2567 น.ส.ศุภมาส อิสรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ตนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนา AI และได้มอบนโยบายพร้อมแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนด้าน AI ภายใต้โครงการ “AI University” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างบัณฑิตร้อยละ 90 ให้มีความรู้พื้นฐานด้าน AI หลังสำเร็จการศึกษา และตั้งเป้าผลิตบุคลากรด้าน AI จำนวน 30000 คนภายใน 3 ปี โดยมีความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับภาคเอกชนในการจัดฝึกอบรมและคอร์สออนไลน์ AI เพื่อเพิ่มทักษะให้กับบุคลากร นโยบายนี้จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้าน AI ในภูมิภาคอาเซียน และได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการเร่งพัฒนากำลังคนและระบบห้องปฏิบัติการอ้างอิงดิจิทัลยกระดับไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของโลกและให้เร่งนำวิทยาศาสตร์สู่การดูแลประชาชน

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐมนตรีศุภมาส ผสานกับเป้าหมายของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ”ประเทศไทยมีความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อยู่ในอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ภายในปี 2572 เพื่อเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันของชาติด้านเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” โดยจะขับเคลื่อนการนำนโยบาย “อว. for AI” สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์และแอพลิเคชั่น เพื่อเสริมสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นการสร้างกำลังคนให้มีความรู้ความสามารถด้าน AI ที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ นอกจากนี้ กรมวิทย์บริการยังจะพัฒนาห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้วยระบบ AI ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการทดสอบและการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ยังดำเนินการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อการประมวลผลข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาในหลากหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 นอกจากนี้ยังขยายศูนย์วิทยาศาสตร์บริการร่วมลงสู่มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ

นโยบาย “อว. for AI” ของกระทรวง อว. ถือเป็นก้าวสำคัญในการปรับตัวของประเทศไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการมุ่งมั่นในการดำเนินการให้สอดรับตามนโยบาย เพื่อนำปัญญาประดิษฐ์มาช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมและส่งเสริมการพัฒนากำลังคนให้พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ