นาโนเทค-อย.-TCELS หนุนระบบรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพร ยกระดับอุตฯ ไทยสู่สากล

นาโนเทค-อย.-TCELS หนุนระบบรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพร ยกระดับอุตฯ ไทยสู่สากล

   เมื่อ : 8 ต.ค. 2567

ผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั่วโลก มีมูลค่าตลาดสูงถึง 56.50 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยการสนับสนุนของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS จัดกิจกรรมการสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อเข้าสู่การรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพร ภายใต้โครงการ “การทบทวนกระบวนการประเมินเพื่อเข้าสู่ระบบรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรสู่เชิงพาณิชย์” หวังติดอาวุธผู้ประกอบการไทย ยกระดับสู่สารสกัด-ผลิตภัณฑ์สมุนไพรศักยภาพสูง ลดการนำเข้า เพิ่มการส่งออก เพิ่มโอกาสอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยสยายปีกสู่เวทีโลก

ดร. วิยงค์ กังวานศุภมงคล รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหัวหน้าโครงการ “การทบทวนกระบวนการประเมินเพื่อเข้าสู่ระบบรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรสู่เชิงพาณิชย์” กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และความพร้อมทางด้านวัตถุดิบพืชสมุนไพร ซึ่งปัจจุบัน มีการนำสมุนไพรไทยมาใช้ในการบริโภคและเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมวัตถุดิบสมุนไพรแปรรูป อุตสาหกรรมยาแผนไทย อุตสาหกรรมเครื่องสำอางสมุนไพร รวมถึงการวิจัยและพัฒนาสารสกัดสมุนไพร เป็นไปในทิศทางเดียวกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น จากเทรนด์สุขภาพ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ รวมถึงแนวโน้มสังคมผู้สูงวัย
“ภาพรวมตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปี 2566 มีมูลค่ากว่า 56000 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า จะเพิ่มสูงขึ้นในปีถัดไป ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับทิศทางของรัฐบาลและนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ (Care and Wellness Economy) และบริการทางการแพทย์ (Medical Hub) การบริการของคนไทยที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติโดยต่อยอดจากธุรกิจการท่องเที่ยว เชิงสุขภาพและการแพทย์แผนไทยที่เป็นจุดแข็งเพื่อรองรับความต้องการด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น จากการที่ประชากรโลกเข้าสู่สังคมสูงวัย พร้อมกับส่งเสริมการผลิตและการใช้งานอุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในประเทศ สนับสนุนการยกระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยโดยใช้นวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุนการนำเทคโนโลยีสุขภาพ (Health Tech) และนวัตกรรมมายกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยให้ทัดเทียม มาตรฐานนานาชาติเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ของภูมิภาค” ดร. วิยงค์กล่าว
ด้วยมองเห็นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพทางด้านสมุนไพรและเวชสำอาง ยังมีช่องว่างและความท้าทายในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยระบบการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศไทย มุ่งพิจารณาผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปซึ่งผ่านการวิจัยแล้ว แต่ทำอย่างไรถึงจะมีระบบการรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรที่ครบวงจรตั้งแต่ระดับการวิจัยและพัฒนาไปจนถึงการส่งเสริมการขาย นาโนเทค สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบสำหรับรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพร ก่อนที่จะไปถึงขั้นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดวัตถุดิบและสารสกัดได้ดียิ่งขึ้น โดยระบบจะต้องสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอื้อต่อผู้ประกอบการและนักวิจัยตลอดกระบวนการจนได้รับการรับรอง ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน อย. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ได้พัฒนาระบบรับรองวัตถุดิบสมุนไพรด้านคุณภาพ และได้ประกาศใช้งานระบบในวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ดร. วิยงค์ชี้ว่า กิจกรรมการสนับสนุนผู้ประกอบการเพื่อเข้าสู่การรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพร ภายใต้โครงการ “การทบทวนกระบวนการประเมินเพื่อเข้าสู่ระบบรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรสู่เชิงพาณิชย์”นี้ เป็นการคิกออฟ (kick off ) เพื่อประชาสัมพันธ์การใช้งานระบบดังกล่าว โดยนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานโครงการในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการในแต่ละขั้นตอน และกำหนดแนวทางการทดสอบที่ผู้ประกอบการยอมรับได้ จนได้เอกสารครบถ้วนพร้อมยื่นขอการรับรองจากสำนักงาน อย. โดยมีเป้าหมายสำคัญในการผลักดันระบบที่พัฒนาขึ้นไปสู่การใช้งานจริง สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดสากล

ภก. มรกต จรูญวรรธนะ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์และการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. โดยกองสมุนไพร ให้ความสำคัญในการพัฒนากฎหมายเพื่อกำกับดูแลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ และภาคอุตสาหกรรมที่เราจะส่งเสริม ทั้งนี้ กิจกรรมในวันนี้ นับว่า เป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสมุนไพรชองไทยเป็นอ่างมาก ทั้งในแง่ของโอกาสในการลดการนำเข้าวัตถุดิบที่มีจำนวนมากในแต่ละปี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ระกอบการในการพัฒนาสารสกัดสมุนไพรจากวัตถุดิบในประเทศให้ได้มาตรฐาน เป็นโอกาสในการทำตลาดต่างประเทศหรือการส่งออกด้วยเช่นกัน  
โครงการ “การทบทวนกระบวนการประเมินเพื่อเข้าสู่ระบบรับรองวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรสู่เชิงพาณิชย์” ในระยะแรกนี้ จะมุ่งเน้นที่ 2 ด้านสำคัญคือ ความปลอดภัย (Safety) และคุณภาพ (Quality) ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมวัตถุดิบ และสารสกัด ลดการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพสูงจากต่างประเทศที่เราสามารถทำเองได้ในประเทศ โดยระบบฯ นี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดระยะเวลาในการพิจารณาเอกสารด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ยื่นขอขึ้นทะเบียน ลดรายการเอกสารด้านคุณภาพในกรณีที่ซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองฯ และนำไปสู่การต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้รับการรับรองคุณภาพ และในอนาคต ก็จะขยายสู่ด้านของประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น Health Claim หรือ Functional Claim ต่อไป 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ