ไทยเปิดฉาก AOSWA 2024 สร้างศักยภาพด้านการสำรวจสภาพอากาศในอวกาศ (Space Weather) พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยทั่่วโลก

ไทยเปิดฉาก AOSWA 2024 สร้างศักยภาพด้านการสำรวจสภาพอากาศในอวกาศ (Space Weather) พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยทั่่วโลก

   เมื่อ : 8 ต.ค. 2567

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ National Institute of Information and Communications Technology (NICT) และพันธมิตรจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Asia-Oceania Space Weather Alliance Workshop (AOSWA) ครั้งที่ 7  ในวันที่ 8-11 ตุลาคม 2567 ณ โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ สมุทรปราการ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสภาพอากาศในอวกาศระหว่างนักวิจัยจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านสภาพอากาศในอวกาศจากนักวิจัยชั้นนำจากทั่วโลก โดยการประชุมนี้เป็นการรวมตัวของศูนย์พยากรณ์อากาศในอวกาศ (Space Weather Centers) และหน่วยงานวิจัยในภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย รวมถึงสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งในการเฝ้าระวังและวิเคราะห์สภาพอวกาศ ให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะการพยากรณ์และเตือนภัยปรากฏการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อดาวเทียม การสื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ 
ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ AOSWA ตั้งแต่ปี 2010 โดยมีหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมตั้งแต่มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และหน่วยงานรัฐ เช่น GISTDA ซึ่งหน่วยงานทั้งหมดเป็นตัวแทนประเทศไทยที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของ AOSWA และกลุ่มดังกล่าวเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยเกี่ยวกับสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยมีเป้าหมายหลักในการเข้าร่วมคือ การพัฒนาความขีดสามารถด้านเทคโนโลยีและกำลังคนทางด้านการพยากรณ์อากาศในอวกาศ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อสร้างองค์ความรู้และขีดความสามารถในด้านอวกาศโดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาดาวเทียมขนาดเล็กและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างความร่วมมือและสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเข้าร่วม consortium ในระดับนานาชาติ

ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสวงหาโอกาสและหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาสภาพอากาศในอวกาศ ซึ่งรวมถึงการสังเกตการณ์ การสร้างทฤษฎี การสร้างแบบจำลอง การพยากรณ์ และการนำเทคโนโลยีไปใช้จริง โดยมีหัวข้อหลักในการประชุมถึง 8 หัวข้อที่น่าติดตาม อาทิ 1) Thermosphere Ionosphere and Magnetosphere Dynamics and Interactions 2) Monitoring and Simulation of Solar Activity and Space Radiation 3) Connecting the Local Observation to Global Network and Space Weather Services 4) Space Weather Awareness and Public Outreach 5) AI and New Techniques of Space Weather Forecasting 6) CGMS Efforts to Improve User Access to Operational Space Weather Data 7) General Topics on Space Weather และ 8) Space Weather Impact and Mitigation โดยการประชุมนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสสำหรับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญในการแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งจะส่งเสริมความเข้าใจและความร่วมมือในด้านการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับสภาพอากาศในอวกาศที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภารกิจการเดินทางสู่อวกาศ เนื่องจากมีผลกระทบต่อระบบแม่เหล็กไฟฟ้าบนพื้นโลก เช่น การแทรกซึมกับการส่งสัญญาณวิทยุคลื่นสั้น ปัญหากับระบบขนส่งไฟฟ้า การเปลี่ยนวงโคจรของดาวเทียม และระดับรังสีที่อาจเป็นอันตรายต่อดาวเทียมและนักบินอวกาศในระหว่างการทำภารกิจ

ที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับอากาศในอวกาศมาอย่างต่อเนื่อง ซี่งเป็นเรื่องของความเชื่อมโยงโดยตรงกับความปลอดภัยของดาวเทียม การสื่อสารและระบบนำทางต่าง ๆ ที่ใช้งานในประเทศ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมองเห็นโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและสร้างความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค โดยผ่านการร่วมมือกับ AOSWA และองค์กรระดับนานาชาติอื่น ๆ เพื่อยกระดับความสามารถของประเทศและสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการวิจัยในระยะยาว อนาคตเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งในด้านการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบพยากรณ์ ด้านขีดความสามารถของประเทศไทยทั้งทางด้านวัตกรรมเทคโนโลยีด้านสภาพอวกาศ เช่น ระบบพยากรณ์อวกาศของประเทศไทย ด้านการยกระดับนักวิจัยและหน่วยงานรัฐที่จะมีบทบาทสำคัญในเวทีระดับโลก เช่น Committee on Space Research (COSPAR) Panel on space weather International Space Environment Service (ISES) และหน่วยงานอื่นที่สำคัญในระดับนานาชาติอีกด้วย ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว